ทีมข่าวคิดลึก
ดูเหมือนว่าทั้ง "โดนัลด์ ทรัมป์"ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่างเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างกันนัก นั่นคือภาวะคะแนนนิยมกำลังดิ่งลงอย่างเห็นได้ชัด!
เมื่อสื่อนอกอย่างสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ผลสำรวจ 2 ชิ้น ชี้ว่า คะแนนนิยมของโดนัลด์ทรัมป์ มีคะแนนต่ำที่สุด ภายหลังการเข้าดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 100 วัน โดยผลสำรวจของเอบีซีร่วมกับวอชิงตันโพสต์พบว่า ประชาชน 53 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าไม่พอใจผลงานของทรัมป์ ส่วนผลสำรวจของเอ็นบีซีร่วมกับวอลสตรีทเจอร์นัลพบว่าประชาชน 54 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่พอใจเช่นกัน
ขณะที่ผู้นำมหาอำนาจอย่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังเจอกับวิกฤติคะแนนนิยม ในห้วงเวลาเดียวกัน ผลการสำรวจความเห็นประชาชนคนไทยผ่านโพลสำนักต่างๆ ก็ออกมาในทิศทางเดียวกัน นั่นคือการสะท้อนว่า บัดนี้ "เรตติ้ง" ของรัฐบาล และ ครม. ไม่สู้ดีนัก !
คะแนนนิยมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่กำลังกลายเป็นเส้นกราฟที่ดิ่งลงนั้น ได้กลายเป็นโจทย์ข้อยากสำหรับแม่น้ำทุกสายที่เชื่อมโยงกับคสช. ต่างต้องช่วยกันหาทางพยุง "รัฐนาวา" ของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้อยู่ไปได้จนตลอดรอดฝั่ง
และที่สำคัญยังต้องไม่ลืมว่า คะแนนนิยมที่ประชาชนมีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารนโยบายของรัฐบาลตลอดจนการเดินหน้าของแม่น้ำทุกสาย ที่ยังคงมี "ภารกิจ" ต้องผลักดันด้วยกันแทบทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ของรัฐบาลเวลานี้กำลังเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองที่เริ่ม "รุกหนัก" โดยเฉพาะในจังหวะที่การร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ อยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังจากที่ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง และ พ.ร.ป.กกต.ผ่านวาระรับหลักการไปแล้ว ยิ่งทำให้นักการเมืองไม่อาจนิ่งนอนใจเพิกเฉยโดยไม่แสดงความเห็น คัดค้านสาระของร่าง พ.ร.ป. ทั้งสองฉบับ
เนื่องจากนักการเมืองในฐานะคนใช้กฎกติกา เชื่อว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเต็มไปด้วย "กับดัก" ที่จะทำให้ "พรรคการเมือง" อ่อนแออีกทั้งยังมองว่าคนร่างกฎหมายขึ้นมานั้น มีแนวคิดและอคติต่อนักการเมือง !
การประสานเสียงโจมตี และท่าทีที่ต่อต้านคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จากฝ่ายการเมืองยิ่งดังกระชั้นถี่มากขึ้นทุกขณะ มิหนำซ้ำยังมาบรรจบกับห้วงเวลาที่รัฐบาลกำลังอยู่ในโหมดที่เร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ ในบ้านเมืองที่เกิดจากการบริหารนโยบาย ไปจนถึงการจัดระเบียบต่างๆ แต่กลับถูกต่อต้าน อาทิการห้ามไม่ให้ประชาชนนั่งท้ายรถกะบะ หวังป้องกันอุบัติเหตุ แต่กลับต้องเจอกับ "แรงต้าน" จนรัฐบาลต้องยอมถอยแทบไม่เป็นกระบวน
สิ่งที่บิ๊กตู่ จะต้องหาทางพลิกวิกฤติให้เกิดเป็นโอกาส จากนี้อาจต้องอาศัยทุกเครือข่าย ทุกกลไกที่มีอยู่ในมือ ทั้งฝ่ายราชการ ไปจนถึง "กองทัพ" หรือแม้แต่ "แนวร่วม" จากฝ่ายการเมืองที่สามารถเป็นปากเป็นเสียงให้กับ คสช. และรัฐบาล แต่ถึงกระนั้นต้องยอมรับว่าด้วยประเด็นแรงเสียดทานจากสาระในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่กำลังเกิดขึ้นเวลานี้ ดูว่าจะทำให้ "มิตร"จวนเจียนจะแปรเปลี่ยนไปเป็น"ศัตรู" อยู่รอมร่อ !