มหันตภัยไวรัสโควิด-19 ที่อันตราย ไม่เพียงทำร้ายสุขภาพร่างกายของมนุษย์จนถึงขั้นล้มหายตายจาก แต่ยังโจมตีอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกส่งผลให้เกิดภาวะถดถอย แม้แต่ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา โดนัล ทรัมป์ ยังร้องขอเสียงสนับสนุนจากสภาคองเกรส ผลักดันมาตรการแจกเงินสดให้ถึงมือครอบครัวชาวอเมริกาอย่างเร่งด่วน โดยตอนหนึ่งของการแถลงข่าวระบุว่า ไม่ต้องการเห็นคนตกงานและไม่มีเงินประทังชีวิต ขณะที่ญี่ปุ่นเองมีรายงานว่ากำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะแจกเงินสดให้กับประชาชน ตามที่เคยดำเนินมาตรการดังกล่าว ในปี 2552 จากกรณีวิกฤติการเงินโลกจากการล่มสลายของสถาบันการเงินชั้นนำในสหรัฐ สำหรับประเทศไทยนั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรการแจกเงิน คนละ 1,000 บาท จำนวน 2 เดือน รวมคนละ 2,000 บาทว่า นายกรัฐมนตรีสั่งให้ชะลอออกไปก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่ายกเลิกมาตรการ โดยรองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ในอนาคตผลกระทบของโควิด-19 จะทำให้แรงงานตกงานมากขึ้น ที่สำคัญจะไม่ใช่เฉพาะแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึง ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรและการส่งออก ขณะที่กระทรวงการคลังเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชาชนทุกอาชีพ รวมถึงผู้ประกอบการ ด้วยการผ่อนภาระ และเสริมสร้างทักษะ อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ นั้นเป็นมาตรการเฉพาะหน้า ซึ่งหากวิกฤติโควิด-19 ยืดเยื้อจากที่เคยประเมินกันไว้ว่าจะคลี่คลายใน 3 เดือน ยืดออกไปเป็น 6 เดือนหรือ 9 เดือนก็จะต้องมีแผนรองรับในกรณีที่เลวร้ายที่สุดเอาไว้ด้วย ดูเหมือนว่า ไวรัสโควิด-19 กำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลก กระนั้น ในห้วงวิกฤติเช่นนี้ มีการพูดถึงการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 นำมาปรับใช้ “เศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นให้ผู้ผลิต หรือผู้บริโภค พยายามเริ่มต้นผลิต หรือบริโภคภายใต้ขอบเขต ข้อจำกัดของรายได้ หรือทรัพยากรที่มีอยู่ไปก่อน ซึ่งก็คือ หลักในการลดการพึ่งพา เพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมการผลิตได้ด้วยตนเอง และลดภาวะการเสี่ยงจากการไม่สามารถควบคุมระบบตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจพอเพียงมิใช่หมายความถึง การกระเบียดกระเสียนจนเกินสมควร หากแต่อาจฟุ่มเฟือยได้เป็นครั้งคราวตามอัตภาพ แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศ มักใช้จ่ายเกินตัว เกินฐานะที่หามาได้ เศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำไปสู่เป้าหมายของการสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจได้ เช่น โดยพื้นฐานแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เศรษฐกิจของประเทศจึงควรเน้นที่เศรษฐกิจการเกษตร เน้นความมั่นคงทางอาหาร เป็นการสร้างความมั่นคงให้เป็นระบบเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง จึงเป็นระบบเศรษฐกิจที่ช่วยลดความเสี่ยง หรือความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้ เศรษฐกิจพอเพียง สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับ ทุกสาขา ทุกภาคของเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดเฉพาะแต่ภาคการเกษตร หรือภาคชนบท แม้แต่ภาคการเงิน ภาคอสังหาริมทรัพย์ และการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมีหลักการที่คล้ายคลึงกันคือ เน้นการเลือกปฏิบัติอย่างพอประมาณ มีเหตุมีผล และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเองและสังคม” (มูลนิธัชัยพัฒนา) อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ นอกจากประชาชนจะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับตนเองและครอบครัวแล้ว หน่วยงานภาครัฐจะต้องเข้าไปช่วยสนับสนุนผลักดันให้สามารถประคองตนฝ่าวิกฤติและพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป