ดูเหมือนว่าเสียงสะท้อนที่ดังออกมาจาก “คณะอนาคตใหม่” กำลังทำให้หลายคนอดที่จะผิดหวังไม่ได้ เพราะไม่เพียงแต่จะไม่ได้รับการ “ตอบสนอง” แล้วยังกลายเป็นว่าทั้งคณะอนาคตใหม่กำลังเล่นบท “ฝ่ายค้าน” ผิดเวล่ำเวลา อีกด้วยต่างหาก ! เมื่อ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีอันต้อง จำใจมารับบท “หัวหน้าคณะอนาคตใหม่” พร้อมด้วย “ปิยบุตร แสงกนกกุล” และ “พรรณิการ์ วานิช” อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ที่ปัจจุบันเหลือเพียงสถานะแกนนำคณะอนาคตใหม่ เช่นเดียวกับธนาธร ได้ออกมาเคลื่อนไหว ด้วยการแถลงเปิดตัวคณะก้าวหน้าผ่านเพจเฟซบุ๊กไลฟ์ของคณะก้าวหน้า เมื่อช่วงวันหยุดที่ผ่านมา โดยโจมตีทั้ง “หัวหน้ารัฐบาล” อย่าง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปจนถึง “พรรคร่วมรัฐบาล” ซึ่งว่าล้มเหลวในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้นจึงเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกแล้ว เปิดทางให้ “คนอื่น” เข้ามาบริหารประเทศแทน ทั้งนี้ธนาธร ยังเสนอโรดแมป ให้สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้ง “นายกฯคนใหม่” เพื่อดำเนินภารกิจเฉพาะหน้า ในเวลา 1 ปี คือการแก้ปัญหาโควิด-19 ฟื้นฟูประเทศ และเป็นเจ้าภาพแก้ไขรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าข้อเสนอของธนาธร ยังคงวนเวียนอยู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผสมผสานไปกับการโหนกระแสพูดถึงเรื่องปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ที่มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ บริหารงานล้มเหลว ซึ่งหาก “เสียง”และ “ข้อเสนอ” ของธนาธร ดังขึ้นก่อนหน้านี้ ในจังหวะที่ธนาธร ยังเป็นดาวดวงเด่นในสังเวียนการเมือง แต่วันนี้ธนาธร เหลือเพียงสถานะประชาชนและอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่ “พยายาม” จะรักษาพื้นที่ของตนเอง ในยามที่พรรคก้าวไกล พรรคการเมืองใหม่ ภาคอวตาร แต่ต้องมาเปิดตัวเล่นในจังหวะที่ทั่วโลก ทั่วประเทศกำลังเผชิญหน้ากับ “พิษโควิด” จนทำให้เรื่องการเมือง กลายเป็น “เรื่องเล็ก” ไปโดยปริยาย อย่างไรก็ดี ข้อเรียกร้องของธนาธร เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก อาจจะไม่ได้รับการตอบสนองด้วยเหตุที่ถูกกระแสในสังคมที่พูดกันถึงมาตรการป้องกันตัวเอง การปฏิบัติตัวเพื่อให้ห่างไกลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ทว่าในขณะเดียวกัน อาจตอบสนองต่อแนวคิด และความต้องการของ “แฟนคลับ” อดีตพรรคอนาคตใหม่ ไม่น้อย หากธนาธร ไม่ขยับหรือออกแอคชั่นอย่างใด อย่างหนึ่ง อาจกลายเป็น การเสียโอกาส และที่สำคัญไปกว่านั้น ต้องยอมรับว่าการเปิดตัวของ พรรคก้าวไกล ที่มีผู้นำพรรคคนใหม่คือ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” กลับไม่สามารถสร้างสีสัน และปลุกกระแสให้ดังเปรี้ยงปร้างเหมือนเมื่อวันที่เปิดตัว “พรรคอนาคตใหม่” ทั้งนี้แต่การเล่นผิดเวที ของคณะอนาคตใหม่ จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ทั้งในทางการเมือง ไปจนถึงการมองว่านี่ไม่ใช่เวลาของ “นักการเมือง”ที่จะเสนอแนวคิดอย่างใด อย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมเกิดความขัดแย้ง แตกแยกในยามที่บ้านเมืองต้องการความร่วมมือร่วมใจเพื่อ ทำให้ “ประเทศไทยชนะ” ฝ่าฟันจากวิกฤติโควิด ในครั้งนี้ไปให้ได้ นาทีนี้ เสียงของ “หมอ”ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ จึงมีความสำคัญมากที่สุด และสำคัญกว่า เสียงจาก “นักการเมือง” อย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้การเลือกเล่นจังหวะที่ผิดพลาดของคณะอนาคตใหม่ มีแต่จะทำให้คณะ ฯ และพรรคก้าวไกล เสียรังวัด และถูกกระแสสังคม “ตีกลับ” เอาได้ง่ายๆ !