เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
มาร์กซิสม์เก่าแก่บอกว่า เศรษฐกิจชุมชนคือเศรษฐกิจที่รอวันตาย แต่อันโตนิโอ กรัมชี มาร์กซิสท์แนวแก้แย้งว่า คงไม่ใช่ เพราะแนวคิดดังกล่าวมองข้ามความสำคัญของวิถีวัฒนธรรมของชุมชนและสังคม
อันโตนิโอ กรัมชี คือ ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิส์อิตาลี ผู้ให้แนวคิดเรื่อง “อำนาจนำ” (hegemony) หรืออำนาจครอบงำสังคมโดยการสร้างค่านิยมที่ทำให้คนแยกไม่ออกระหว่างผิดชอบชั่วดี เห็นพ้องกับ “ผู้นำ” ซึ่งมีอำนาจแบบไม่โต้เถียง และเขาคือผู้ที่คิดคำว่า “organic intellectual” (ปัญญาชนชาวบ้าน)
(ถ้าแปลว่า ปัญญาชนอินทรีย์ คงแปลกดี แต่จริงๆ คือ ปัญญาชนที่เกิดในองคาพยพนั้น คนในชุมชนหรืออาชีพนั้นๆ เช่น ผู้นำชาวนาที่ไม่ใช่คนนอกเข้าไปนำชาวนา ผู้นำกรรมกรที่เป็นกรรมกรเอง)
อิตาลีคือประเทศที่ยืนยันแนวคิดของกรัมชี ที่พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนจนเป็นต้นแบบของการพัฒนาประเทศต่างๆ ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา ไม่ว่ากรีซ เตอร์กี และประเทศในแอฟริกาเหนือทั้งหลาย
เศรษฐกิจอิตาลีกว่าร้อยละ 90 มีฐานอยู่ที่วิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงขนาดจิ๋วในครัวเรือนที่อาศัยแรงงานในครอบครัว ภูมิปัญญา ทรัพยากรในท้องถิ่น และความเป็นศิลปินในสายเลือด ทำให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัจจัยสี่ ข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน และที่สำคัญ ผลผลิตด้านการเกษตร
เสื้อผ้าอิตาลีมีชื่อเสียงทั้งหลายล้วนมาจากครอบครัวและชุมชนเล็กๆ และเมื่อเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ก็มาจากคลัสเตอร์อันลือชื่อหรือเครือข่ายของ “คนเล็กๆ “ แบบ “เล็กนั้นงามและมีพลัง” อย่างที่นายแจ๊กหม่าชอบพูด (Small is beautiful and powerful)
การเกษตรอิตาลีมีความสำคัญ เพราะผลิตเพื่อบริโภคและส่งออกผลิตภัณฑ์ต่างๆ แป้งทำขนมปัง พิซซา พาสต้า รวมทั้งที่แปรรูปเป็นสปาแก็ตตี มักกาโรนี และอื่นๆ เหล้า ไวน์ เนย ผัก ผลไม้ สมุนไพร
การท่องเที่ยวอิตาลีก็เป็นรายได้หลักตั้งแต่ไหนแต่ไร เพียงนักแสวงบุญจากทั่วโลกปีหนึ่งก็หลายสิบล้านคนแล้ว ยังไม่รวมนักท่องเที่ยวที่ชื่นชมทะเล ภูเขา วิถีชีวิตชนบทของอิตาลีที่มีเสน่ห์โรแมนติก
นักแสวงบุญ นักท่องเที่ยวปีละ 50 ล้านคนซื้อของที่ระลึก เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เข็มขัด และอื่นๆ ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจาก “คนเล็กๆ “ และวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมขนาดจิ๋วทั้งสิ้น รวมทั้งการส่งออกของบรรดาแบรนด์ที่โด่งดังระดับโลกอย่างกุชชี่ อาร์มานี่ เบเน็ตตอง และอื่นๆ
ฐานเศรษฐกิจอิตาลีจริงๆ จึงไม่ใช่เฟียต เฟอร์รารี หรือลัมบอร์กีนี่ แต่อยู่ที่ “พิซซ่า สปาก็ตตี้” อยู่ที่คนเล็กๆ การประกอบการขนาดเล็กกลาง สหกรณ์เล็กใหญ่ในชนบท ที่ “อุ้ม” เศรษฐกิจของประเทศ
ปัญหาการพัฒนาประเทศไทย จึงอยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้นำว่า จะเปิดโอกาสการพัฒนาให้คนเล็กๆ ได้มากน้อยเพียงใด หรือปล่อยให้มีการผูกขาดในรูปแบบต่างๆ โดยนายทุนใหญ่ที่กำลังกินรวบในหลายๆ เรื่องหลายวงการ เป็น hegemony แบบใหม่ที่ทำให้การครอบงำเป็นเรื่องดีที่รับได้ เพราะแยกไม่ออก
บทเรียนของอิตาลีมีอีกด้าน การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศนี้มีบทเรียนสำคัญสำหรับทั่วโลก เพราะอิตาลีเหมือนมีสองประเทศในประเทศเดียว ภาคเหนือกับภาคใต้ต่างกันราวฟ้ากับดิน อย่างที่งานวิจัย 20 ปีของ เดวิด พุตนัมเมื่อปี 1993 ชี้ให้เห็น (Making Democracy Work)
ศาสตราจารย์จากฮาร์วาร์ดผู้นี้บอกว่าว่า การพัฒนาและประชาธิปไตยเกิดได้ในภาคเหนืออิตาลีเพราะมีรากฐานที่การศึกษา และประชาสังคมที่เข้มแข็ง มี “ทุนทางสังคม” (ความไว่วางใจกันของผู้คนในชุมชน) มากกว่าทางใต้ที่อยู่ใต้อำนาจของมาเฟีย ระบบอุปถัมภ์ คนจึงอพยพย้ายถิ่นไปทำมาหากินทางภาคเหนือและไปเป็นแรงงานในต่างประเทศ ชุมชนภาคใต้อ่อนแอ ท้องถิ่นอ่อนแอ ถูกครอบงำ
ชุมชนภาคเหนืออิตาลีเข้มแข็งและพัฒนาเศรษฐกิจจากครัวเรือน ชุมชนไปถึงระดับชาติและส่งออก แบรนด์ดังทั้งหลายมาจากภาคเหนือเมืองฟลอเรนส์ขึ้นไปทั้งสิ้น
โลกที่เปลี่ยนไปทำให้ไทยมีข้อได้เปรียบหลายอย่าง นักท่องเที่ยวมาเมืองไทยปีละ 30 ล้านคน ที่นอกจากจะพบเห็นสิ่งดีๆ ซื้อของดีๆ กลับไป ยังเผยแพร่ความรู้สึกดีๆ สิ่งของดีๆ ที่นำติดตัวกลับไป ขยายวงการค้าขาย รวมทั้งโลกดิจิทัลที่ส่งต่อภาพและข้อความดีๆ จากคนเหล่านี้ไปยังผู้คนทั่วโลก
มรดกไทยมีคุณค่าและมูลค่าสูงมาก เพียงแค่สบู่ไทยอย่างดียว วันนี้ผลิตได้เป็นร้อยเป็นพันอย่าง ที่ล้วนแต่ตอบสนองความต้องการของคนในโลกที่ต้องการของดีต่อสุขภาพ มาจากธรรมชาติ กระเป๋าที่ทำจากวัตถุดิบท้องถิ่นหลายสิบอย่าง นับร้อยนับพันรูปแบบ ยังผ้าไทยทอมือย้อมสีธรรมชาติร้อยพันแบบ
ประเทศไทยเป็นได้ทั้งอิตาลีตอนใต้และอิตาลีตอนเหนือ อยู่ที่เจตจำนงทางการเมือง พัฒนาการของประชาสังคม ระบบโครงสร้างที่ต้องปฏิรูปให้สมสมัย และสืบทอดมรดกทางสังคมวัฒนธรรมเพื่อทำให้เกิดการพัฒนายั่งยืนกว่าเพียงการหาเงินเข้าประเทศ