แก้วกานต์ กองโชค ป้ายผ้าขนาดไม่ใหญ่มากนักติดทั่วเมืองนครพนมระบุข้อความว่า  “คนนครพนม ไม่เอา นายภาวิช ทองโรจน์  นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม อยู่มา 7 ปี แล้ว ม.นครพนมไม่มีการพัฒนา มีแต่ขัดแย้ง” นั่นแสดงให้เห็นถึงระดับ “ความขัดแย้ง” ภายในมหาวิทยาลยันครพนม ทั้งนี้ ข้อความคัดค้านดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก ดร.ประวิต เอราวรรณ์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนมได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี ต่อหน้าคณาจารย์ในพิธีรดน้ำดำหัวขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์  เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2560 ที่สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม ทำให้คณาจารย์แต่ละคณะได้นัดรวมตัวที่ศาลากลางจังหวัดนครพนม เพื่อขอพบผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ให้ยับยั้งการลาออกของอธิการบดี  พร้อมขอให้ปลดนายภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัย ออกจากตำแหน่ง โดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยนครพนมรายงานด้วยว่า 25 เม.ย.2560 จะมีการนัดรวมพล ณ ลานพญานาค ริมโขงชุมนุมใหญ่ เพื่อขับไล่นายภาวิช ออกจากตำแหน่ง จนทำให้ประเมินกันว่า กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิในสภามหาวิทยาลัยนครพนม ก็จะลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่สามารถร่วมทำงานกับนายกสภาได้ ความขัดแย้ง จนถึงขั้นไล่ “นายภาวิช” ศาสตราภิชาน อดีตคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยนครพนม, มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ รักษาการอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และนายกสภาเภสัชกรรม ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ และนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม คงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2560 คณาจารย์แต่ละคณะได้นัดรวมตัวที่ศาลากลางจังหวัดนครพนม เพื่อขอพบผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ให้ยับยั้งการลาออกของอธิการบดี วึ่งจะมีผลในวันที่ 2 พ.ค. 2560 และไม่เอานายกสภามหาวิทยาลัย และขอให้ปลดนายภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัย ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเห็นว่าสร้างปัญหาและความแตกแยกในมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด ทั้งนี้ในหนังสือขอยับยั้งการลาออกของอธิการบดีของบุคลากรในมหาวิทยาลัยนครพนม  ส่วนใหญ่เห็นว่า อธิการบดีเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีการบริหารงานด้วยความโปร่งใส่ เสียสละ ทุ่มเท มีธรรมาภิบาล สามารถนำพาองค์กรให้เจริญก้าวหน้าได้ แต่สาเหตุที่ลาออกเนื่องจากนายกสภาล้วงลูกการบริหาร แต่งตั้งคนของตนเองเข้ามาเป็นรองอธิการบดี และขาดธรรมาภิบาลในสภา ทำให้อธิการบดีอึดอัดไม่สามารถบริหารงานต่อได้ นอกจากนี้ คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และประชาชนทั้งภาครัฐและเอกชน ยังได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้ระงับการลาออกของอธิการบดีด้วย ความขัดแย้งระหว่าง นายกสภามหาวิทยาลัย กับฝ่ายบริหารคือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนมนั้น มีหลายปัจจัยด้วยกัน กรณีแรกก็คือ นายกฤช ฟอลเล็ต กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ส่งหนังสือเพิ่มเติมถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบการบริหารงานของนายกสภามหาวิทยาลัยในประเด็นธรรมาภิบาล ซึ่งมีหลายประเด็นด้วยกัน กรณีที่สองคือ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ทำหนังสือถึงลงวันที่ 8 ก.พ.2560 ถึงนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม ขอให้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนประเด็น รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม แอบอ้างได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ทั้งที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จงใจตีพิมพ์ผลงานซ้ำซ้อน ประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ช่วงดำรงตำแหน่งคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมไปถึงเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ช่วงรักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม  ข้อร้องเรียนการตีพิมพ์ผลงานซ้ำซ้อนนั้นมีการระบุว่า มีการตีพิมพ์บทความวิจัยซ้ำทุกตัวอักษร ในการประชุม สภามหาวิทยาลัยนครพนม ครั้งที่ 5/2559 เมื่อเดือนเม.ย.2559 ได้เคยมีการพิจารณาเรื่อง การส่งบทความวิจัยเรื่อง “A comparison of Teaching Efficacy ,Commitment to Teaching Profession and Satisfaction with Program Effectiveness of Teacher Students under The 5 Year –Program Curriculum and Those under the 4 +1 year Program Curriculum” ที่เคยตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Social Science ไปตีพิมพ์ซ้ำอีกในวารสารศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยบูรพานั้น ได้รับอนุญาตจากวารสารทั้งสองฉบับแล้ว มติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยนครพนม จึงเห็นว่า มิใช่เป็นการนำผลงานทางวิชาการเรื่องเดิมไปตีพิมพ์ซ้ำในวารสาร อันเป็นการปกปิดข้อเท็จจริงในการเผยแพร่ หรือเป็นการทำผิดจรรยาบรรณ เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายลิขสิทธิ์ตามที่มีผู้กล่าวอ้างแต่ประการใด และไม่เข้าข่ายกรณีที่ถือว่าขาดจริยธรรมและคุณธรรมทางวิชาการ ยังมีกรณีจัดซื้อจัดจ้างหลายรายการในมหาวิทยาลัยนครพนม จัดซื้อจัดจ้างเครื่องบิน เครื่องฝึกบิน อุปกรณ์ และอะไหล่ของวิทยาลัยการบินนานาชาติ โครงการรับเหมาก่อสร้างอาคาร 9 แห่ง ของมหาวิทยาลัยนครพนม จนกระทั่ง นายสุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ อดีตอธิการบดี ฟ้องร้องมหาวิทยาลัยหลายคดี หลังจากถูกปลดออกจากตำแหน่ง ดูเหมือนว่า ผลประโยชน์ในมหาวิทยาลัยนครพนม กำลังกลายเป็น “แผลใหญ่” ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้แล้ว