ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ รัฐบาลประกาศยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร ฝ่ายการเมือง ไปจนถึงภาคประชาชนตลอดหลายวันที่ผ่านมา ได้ออกมาทิศทางที่เป็นทั้งบวกและลบ ปฏิกริยาที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล เพิ่มความเข้มข้นให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเสนอให้ “ปิดประเทศ” ! โดย เครือข่ายประชาชนรวม 48 หน่วยงาน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐประกาศสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นระยะที่ 3 พร้อมดำเนินการประกาศภาวะฉุกเฉิน เป็นเวลา 3 สัปดาห์ และปิดประเทศเพื่อลดการระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยเร็วที่สุด ขณะที่ “6 อดีตประธานรัฐสภา” นำโดย “สุชน ชาลีเครือ” พร้อมด้วย “นิคม ไวยรัชพานิช” อดีตประธานวุฒิสภา เป็นตัวแทน “อดีตประธานรัฐสภา” ประกอบด้วย อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานรัฐสภา ,สนิท วรปัญญา , ประสพสุข บุญเดช และพล.อ.ธีรเดช มีเพียร อดีตประธานวุฒิสภา ได้เข้าพบ ชวน หลีกภัย ประธานสภา เพื่อขอให้นำความเห็นของที่ประชุมเสนอต่อนายกฯ เพื่อให้มีการหลอมรวมทุกพลังในชาติเพื่อรับมือวิกฤติการณ์ให้รอบด้าน หรือบอกให้ชัดเจน คือการเสนอข้อเรียกร้องให้มีการเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อให้มีการพิจารณาข้อคิดเห็นจากตัวแทนประชาชน โดยใช้เวทีสภาฯ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ดูเหมือนว่า “ ฝ่ายรัฐบาล”จะไม่ยอม “รับลูก” จาก “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” อีกทั้งยังเสนอให้รัฐบาลใช้อำนาจและการตัดสินใจประกาศสั่งปิดประเทศ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลกเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายหลังจากที่ในช่วง2-3 วันที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในลักษณะที่ก้าวกระโดด มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยวันละกว่า 30 ราย ส่งผลให้ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ณ วันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 272 ราย ! แน่นอนว่าการออกมาเรียกร้อง และปฏิกริยาจากหลายต่อหลายฝ่าย เมื่อภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากขึ้นผ่าน 6 มาตรการ ทั้งการให้ปิดสถานบริการต่างๆ ในกทม.และปริมณฑล จากนั้นยังพบว่าในหลายจังหวัด ได้ออกมาขานรับกับมาตรการในครั้งนี้ด้วยการออกคำสั่งปิดพื้นที่เสี่ยง อย่างต่อเนื่อง การตัดสินใจที่จะปิดหรือไม่ปิดประเทศ ตามอำนาจของรัฐบาลนั้น ย่อมต้องประเมินจากหลายปัจจัย ที่จะเกิดขึ้นตามมาทั้งบวกและลบ ! ทั้งนี้ดูเหมือนว่า แม้ล่าสุด “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะยังไม่มีการประกาศปิดประเทศก็ตาม แต่น่าสนใจว่าในการประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ได้เพิ่มยาแรงขนานใหม่ ด้วยการประกาศกร้าวว่าเมื่อมีการประกาศ6มาตรการรับมือกับการแพร่ระบาดฯไปแล้วย่อมเป็นการให้ “อำนาจ” แก่ ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าฯกทม. ซึ่งสามารถกำหนดมาตรการเพิ่มเติมจากกรอบใหญ่ที่ให้ไป ดังนั้นสิ่งที่ต้องการเห็นจากนี้ไปคือการทำงานในพื้นที่ ที่ต้องเด็ดขาด ซึ่งหากทำไม่ได้ ก็ต้อง “ย้ายทันที” และนี่คือมาตรการที่เพิ่มระดับความเข้มข้น ในการเดินตามกรอบ 6มาตรการใหญ่ที่รัฐบาลได้วางเอาไว้แล้วก่อนหน้านี้ !