ในช่วง 4-5 ปีมานี้ สังคมไทยได้รับบทเรียนหลายอย่าง จากวิกฤติทั้งวิกฤตการณ์ถ้ำหลวง และวิกฤตการณ์กราดยิงโคราช ค่อยๆสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไทย แต่เมื่อต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ดูเหมือนจะพบว่ายังมีภูมิคุ้มกันบกพร่องในหลายส่วนที่ยังทำงานไม่ทำงานสอดประสานกัน ซึ่งทำให้ผู้นำที่ทำหน้าที่บริหารจัดการสถานการณ์อย่างพล.อ.ประยุธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีถูกเพ่งเล็ง แถลงการณ์ 6 นาทีเมื่อวันที่ 16 มีนาคมของเขา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากการสื่อสารออกมาสร้างความผิดหวังให้กับประชาชน แม้จะมีเป้าหมายการสร้างขวัญกำลังใจและขอความร่วมมือ ทั้งที่วรรคทอง “ประเทศไทยต้องชนะ” ของนายกรัฐมนตรี ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ กระนั้น ปฏิเสธไม่ได้ที่แถลงการณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับผู้นำของประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ อย่างนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ที่ได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลก หรือWHO และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขให้เป็นต้นแบบในการรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยใช้วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน บรรเทาความตื่นตระหนก ขจัดข่าวลือและทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ โดยนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้ให้แนวทางแก่ประชาชนในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เช่น การรักษาสุขอนามัย ขณะเดียวกันได้ให้ความมั่นใจว่าสิงคโปร์มีสินค้าที่จำเป็นต่าง ๆ เพียงพอ และยืนยันว่าจะแจ้งข้อมูลให้ทราบทุกขั้นตอน หากมองย้อนกลับไปในอดีต “ความล้มเหลว” ของผู้นำไทย ที่พยายามสร้างความเชื่อมั่นผ่านการสื่อสารกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็น นายทักษิณ ชินวัตร ที่เริ่มจัดรายการ “นายกฯทักษิณพบประชาชน” พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีรายการ “เปิดบ้านพิษณุโลก” นายสมัคร สุนทรเวช มีรายการ “สนทนาประสาสมัคร” นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีรายการ “รัฐบาลของประชาชน” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” กระทั่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” มาถึงพล.อ.ประยุทธ์ แรกรัฐประหารเข้ามา ในตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช.ตอนนั้น ด้วยความนิยมมีสูงจัดรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” กระทั่งเป็นนายกรัฐมนตรีและปรับเปลี่ยนชื่อและรูปแบบราการหลายครั้ง เมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นรายการเดินหน้าประเทศไทย และเป็นรายการศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนก่อนจะที่ยุติไป บทเรียนจากผู้นำตั้งแต่อดีต สะท้อนให้เห็นว่า การสื่อสารกับประชาชน ให้มีประสิทธิภาพนั้น จะต้องมีหลักการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้วยภาษาเข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน สื่อสารบ่อยๆ ยิ่งในสถานกาณ์วิกฤติ ความถี่ยิ่งมีความจำเป็นในการสื่อสาร นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการภาษากาย เครื่องแต่งกาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ผู้นำไทยทั้งหลายดังที่กล่าวมา ประสบปัญหาการสื่อสาร พูดไปก็ไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครฟังนั้น ล้วนมาจากผลงานการบริหารประเทศ ให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นศรัทธา ในการทำงาน เพราะต่อให้ทำงานไม่ดี จะสื่อสารดีแค่ไหนก็คงไม่มีใครเชื่อมั่น รังแต่จะว่าดีแต่พูด แต่หากบริหารจัดการได้ดี แล้วสื่อสารดีด้วย ประชาชาก็พร้อมที่จะเดินตามผู้นำ นอกจากจะฝ่าวิกฤติได้ ประเทศไทยจะไปฉิว