จากแถลงการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของศูนย์โควิดครั้งที่ 1 โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงอยู่ในระยะที่ 2 แต่เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะที่ 3 โดยยังไม่มีมาตรการปิดประเทศ แต่จะเข้มงวดกับผู้เข้าเมืองทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ โดยนายกรัฐมนตรี ได้มีการสั่งการในเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์
โดยให้จัดเตรียมโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลในส่วนของท้องถิ่น ให้มีความพร้อมรองรับสถานการณ์ เตรียมการด้านบุคลากร ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงแพทย์ พยาบาลที่เกษียณอายุแล้ว และอาสาสมัครที่มีความรู้ทางการแพทย์ เตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย โดยปัจจุบันผลิตได้วันละเกือบ 2 ล้านชิ้น เมื่อรวมเข้ากับสินค้าที่ตรวจจับได้โดยกรมการค้าภายใน และกรมศุลกากร ซึ่งยึดไว้เป็นของกลางก่อนหน้านี้นับล้านชิ้นนั้น นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้นำมาส่งกลับที่ศูนย์โควิด เพื่อแจกจ่ายไปตามโรงพยาบาลและผู้จำเป็น
ที่ประชุมศูนย์โควิด มีวรรคทองระบุว่า “ปัญหาโควิดมาเป็นอันดับ 1” ปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจสามารถฟื้นฟูได้ในภายหลัง ทว่าหลายมาตรการที่ออกมายังย้อนแย้งกับวรรคทองดังกล่าว ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องขจัดข้อกังขาในประเด็นนี้ โดยเฉพาะการเปิดให้เข้าถึงการตรวจหาเชื้อไวรัส และมาตรการคัดกรองการเข้า-ออกประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ภาครัฐจะยังไม่ประกาศเข้าสู่ระยะที่ 3 แต่มาดูแผนรับมือการแพร่ระบาดในระยะที่ 3 กันก่อน ซึ่งพบว่า มีการกำหนดเอาไว้ 3 เป้าหมายด้วยกัน คือ
เป้าหมายที่ 1 ลดการแพร่เชื้อ ชะลอการระบาดของโลก
มาตรการที่ 1 ลดการแพร่เชื้อ แบบเข้มข้นที่สุดคือการห้ามเดินทางเข้า-ออกประเทศระบาด แบบผ่อนปรนคือ ไปต่างประเทศได้ แต่กลับมาต้องถูกกักตัวที่บ้านหรือในสถานที่ราชการ
มาตรการที่ 2 คือ ชะลอการระบาดของโรค เตรียมความพร้อมป้องกันการระบาด
-ระดับบุคคล ให้ความรู้เรื่องการติดเชื้อปฏิบัติตัวขณะป่วย การดูแลผู้ป่วยในบ้าน ลดความตระหนก
-ระดับองค์กร ทำความสะอาดออฟฟิต มีเจลล้างมือ ให้พนักงานไม่ให้แพร่ไปรายอื่นๆ
-ระดับสังคม ยกเลิกงานอีเวนต์ หรือกิจกรรมที่มีการรวมตัวมากๆ สนับสนุนให้คนทำงานที่บ้าน
-สั่งปิดสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดทันที หากเป็นที่ทำงานให้ทำงานที่บ้าน ใช้มาตรการคุมคนมีความเสี่ยงสูง กักตัวที่บ้านหรือสถานที่ราชการ ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ที่มีการระบาดต้องรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ หากมีอาการป่วย
เป้าหมายที่ 2 คนไทยปลอดจากโรค
มาตรการที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์ป่วยต้องหยุดงานทันที
มาตรการที่ 2 เตรียมการรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก โดยทำจุดคัดกรองนอกโรงพยาบาลสำหรับคนป่วยไม่หนัก ส่วน
ผู้ป่วยอาการกลางๆ ให้อยู่ในอาคารหรือโรงพยาบาลเฉพาะ ผู้ป่วยหนักจะมีการตั้ง Cohord Ward และหอดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรคโควิด-19 และตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อการวินิจฉัยทุกจังหวัด พร้อมสำรองยาให้เพียงพอ มาตรการที่ 3 การจัดการด้านกำลังคน คือห้ามบุคคลากรทางการแพทย์เดินทางต่างประเทศเพื่อเลี่ยงการกักตัว14วัน และเพิ่มอัตราผู้ดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก
ส่วนเป้าหมายที่ 3 ลดผลกระทบทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง
มาตรการที่ 1 เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
-วัยทำงาน ผู้ที่ถูกแยกกักตัววัยทำงานจะเยียวยการขาดงานอย่างเหมาะสม
-นักเรียน จะได้รับการเยียวยาด้วยการเรียนเสริม
-ถูกเลิกจ้าง เยียวยาแรงงานที่ถูกเลิกจ้างและภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
มาตรการที่ 2 เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
-งดการสัมมนา ทัศนศึกษา
-หน่วยงานภาครัฐต้องทำแผนประคองกิจการและกำลังคนำรอง หากมีคนป่วยจำนวนมาก
ทั้งนี้ ระหว่างชะลอเข้าสู่ระยะที่ 3 แต่วิกฤติเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งทำให้ประชาชนเห็นและเชื่อมั่นให้ได้คือ ปัญหาโควิดมาเป็นอันดับ 1 อย่างแท้จริง เพื่อความร่วมมือร่วมใจอย่างพร้อมเพรียงกัน