สมบัติ ภู่กาญจน์ อาจารย์คึกฤทธิ์ เล่าความเป็นมา ถึงการใช้พ.ร.บ.สงฆ์ปี 2484 ในช่วงระยะเวลาต่อมา ว่า “ เมื่อพระธรรมยุต ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายปกครองสงฆ์ฉบับนั้นเสียแล้ว กฎหมายนั้นก็เป็นหมัน ส่งผลให้พระธรรมยุตและพระมหานิกาย ต่างก็ปกครองกันเองเรื่อยมาตามมีตามเกิด การปกครองที่ขาดอำนาจทางกฎหมาย ก็ขึ้นอยู่กับหิริและโอตตัปปะเท่านั้นเป็นสำคัญ การปกครองสงฆ์ที่ทำท่าคึกคักเมื่อเริ่มต้น จึงเริ่มเนือยลง และอ่อนแอลงเรื่อยๆ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ที่ผมพูดเช่นนี้ มิได้หมายความว่า พระธรรมยุตหรือพระมหานิกายเป็นฝ่ายที่ทำให้การปกครองสงฆ์อ่อนแอหรือย่อหย่อน เพราะถ้าจะพูดอย่างกล่าวโทษว่าใครเป็นผู้ทำผิด ผมก็ต้องโทษฆราวาส ที่เอาการเมืองเข้าไปถวายพระ เป็นการใช้ระบอบประชาธิปไตยที่ผิดทาง นั่นมากกว่า สภาพการของพระศาสนาในสังคมไทย จึงดำรงอยู่เช่นนี้มาตลอดระยะเวลา 15 ปี ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติสงฆ์ปี 2505 เกิดขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง พระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่มีวัตถุประสงค์ในการรวมนิกาย พระทั้งสองนิกายจึงได้ปฏิบัติพระธรรมวินัย กันตามลัทธิตามความเห็นดีเห็นชอบของแต่ละฝ่ายมาได้เรื่อยๆ และเป็นเช่นนี้มาจนกระทั่งปัจจุบัน” อาจารย์คึกฤทธิ์ เขียนเรื่องราวความเป็นมานี้ไว้ ในช่วงทศวรรษหลังปีพ.ศ.2520 ยุคที่พรบ.สงฆ์ปี 2505 ยังคงใช้ได้ดีอยู่ แต่ถึงกระนั้นปัญหาเรื่องการประพฤติปฏิบัติของพระบางรูปหรือคนบางกลุ่ม ก็ยังมีข่าวแปลกๆเกิดขึ้นมาตลอด ในช่วงความเปลี่ยนแปลงของสังคม ช่วงก่อนปี 2516 ถึงหลังปี 2520 อาจารย์คึกฤทธิ์จึงต้องส่งเสียงวิพาษ์วิจารณ์ข่าวเหล่านี้ พร้อมกับเล่าความเป็นมาในอดีต ให้สาธารณชนคนไทยได้รับรู้ที่ไปที่มา ซึ่งในข้อเขียนชิ้นสุดท้ายก่อนจบ อาจารย์สรุปความเห็นเอาไว้ว่า “ ท่านที่ได้อดทนติดตามอ่าน บทความเรื่องพระของผมมาจนถึงวันนี้ ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย น่าจะจับความได้ว่า เหตุที่ทำให้อลัชชีมีอยู่ในสงฆ์ เป็นจำนวนมากขึ้นๆ จนก่อให้มีข่าวหรือเรื่องราวอื้อฉาว ปรากฏขึ้นบ่อยๆในทุกวันนี้ ก็น่าจะมีเหตุอยู่ที่การปกครองสงฆ์ ซึ่งผมไม่อยากจะเรียกว่าอ่อนแอ แต่ขอเรียกว่า เป็นการปกครองที่หนักไปในทางด้านเมตตา” ขออนุญาตเว้นวรรคอีกนิดครับ ว่า การวิพากษ์วิจารณ์ด้วยสุ้มเสียงอย่างเช่นนี้ ค่อนข้างจะเป็นสิ่งที่หาได้ยากในยุคนี้แล้วนะครับ เพราะในขณะที่‘เรื่อง’หรือ ‘ข่าวอื้อฉาว’ที่เกี่ยวกับพระในสังคมไทย เมื่อสี่สิบปีก่อนกับวันนี้จะยังคงมีอยู่ และไม่มีอะไรที่แตกต่างกันนัก แต่ความมี ‘ข่าวแปลกกว่า’ หรือ ความมี ‘หน่วยงานราชการ หรือกฎระเบียบใหม่’ ที่มากขึ้นกว่ายุคก่อน กลับไม่ได้ช่วยให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ท่วงทำนองเช่นนี้ มีขึ้นง่ายๆเลย ในโลกยุคปัจจุบัน เรามีแต่สุ้มเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ชนิดที่รุนแรงเร้าอารมณ์ ของแต่ละฝ่ายที่สนับสนุนหรือคัดค้านฝ่ายตรงข้าม อย่างยืนยันในความถูกความผิด โดยใช้อารมณ์นำเหตุผล ขณะที่สาธารณชนส่วนใหญ่ก็ยังขาดข้อมูลข่าวสารหรือการรับรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องอย่างแจ้งชัด ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสงฆ์หรือหน่วยงานของรัฐที่ดูแลทางด้านศาสนา ไม่เคยมีใครที่พยายามจะให้ความรู้หรือความกระจ่างชัดในเรื่องราวความเป็นมาเหล่านี้ให้มากขึ้น หรือชัดขึ้น (ซึ่งอาจจะระงับอารมณ์ได้บ้าง แก่บางคนที่ปัญญายังมีอยู่) เพราะฉะนั้นประโยคนุ่มนวลที่ว่า การปกครองที่หนักไปทางด้านเมตตา ของอาจารย์คึกฤทธิ์ จึงทำให้ผมอยากเน้นการ‘อ่านไป-คิดไป’ กันให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อนที่จะถึงบทสรุปของอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่ท่านกล่าวไว้ต่อไปว่า “ ถ้าจะดูความเป็นมาในอดีต เราจะเห็นได้ว่า ในสมัยใดที่มีการใช้อำนาจอย่างจริงจังกันกับพระ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน ก็ดี อำนาจของสังฆการี ซึ่งเป็นฆราวาส แต่มาใช้อำนาจแทน ก็ดี พระส่วนใหญ่จะเรียบร้อย มีความระมัดระวัง ไม่ค่อยจะก่อเรื่องอื้อฉาวขึ้นมา แม้ในระยะที่พระปกครองพระด้วยกัน หากมีพระมหาเถระที่ท่านใช้อำนาจเด็ดขาด พระส่วนใหญ่ก็มักจะปฏิบัติตนเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ไม่ก่อเรื่องอื้อฉาวขึ้นเช่นเดียวกัน เรื่องนี้ จะเห็นได้ชัดในสมัยที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์ ในสมัยนั้น การปกครองสงฆ์ค่อนข้างจะราบรื่น พระสงฆ์ส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติพระธรรมวินัยกันอย่างเคร่งครัดทั้งสองนิกาย อีกทั้งการศึกษาทางด้านพระปริยัติ ก็เจริญรุ่งเรืองเป็นประวัติการณ์ ปัจจัยสำคัญแห่งความเจริญและความเรียบร้อยนี้ อยู่ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีทั้งความเป็นพระและความเป็นเจ้า รวมอยู่ในพระองค์เดียวกัน เรียกว่า มีทั้งอำนาจพระ และอำนาจเจ้า และยิ่งกว่านั้น ในฐานะที่ทรงแตกฉานในพระไตรปิฎก ได้ทรงพระนิพนธ์ตำรับตำราทางพุทธศาสนาเอาไว้มาก จึงทรงมีพระอำนาจทางปัญญา อีกประการหนึ่งเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุเหล่านี้ พระในสมัยนั้น จึงมีความเกรงกลัวในสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นกันอย่างยิ่ง เรียกได้ว่ากลัวทั้งพระ กลัวทั้งเจ้า และกลัวทั้งปัญญา ความกลัวข้อหลังนี้ก็สำคัญไม่น้อยอยู่ ช่วยตระหนักกันเอาไว้ด้วยเถิดครับ” เนื้อที่วันนี้ คงจำเป็นต้องตัดตอนเอาไว้แค่นี้ เรื่องราวในตอนสรุปจะเป็นอย่างไรต่อไปอีก ขอให้ติดตามตอนหน้าอีกตอนเดียวครับ