ดร. วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
โครงการขนาดยักษ์ที่จะเป็น New engine ที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติให้เป็นประเทศไทย 4.0 คงหนีไม่พ้นโครงการของพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ประกอบไปด้วย จ.ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา ซึ่งรัฐบาลได้เปิดตัว
ให้บริษัทระดับโลกเข้ามาลงทุนเร็วๆ นี้
โครงการนี้นับว่าเป็นโครงการที่เป็นเป้าหมายให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการลงทุนเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลจะลงทุนมูลค่ามหาศาล เช่น
1. พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติมูลค่าลงทุน 200,000 ล้านบาท
2. ท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด มูลค่า 10,150 ล้านบาท
3. ท่าเรือแหลมฉบัง มูลค่า 88,000 ล้านบาท
4. รถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพ มูลค่า 158,000 ล้านบาท
5. รถไฟรางคู่ มูลค่า 64,300 ล้านบาท
6. มอเตอร์เวย์ มูลค่า 35,300 ล้านบาท
7. สร้างเมืองใหม่ โรงพยาบาล มูลค่า 450,000 ล้านบาท
8. พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มูลค่า 200,000 ล้านบาท
เอาเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อมด้านโลจิสติกส์ทั้งทางบก อากาศ และทางน้ำ
มุ่งสู่เมืองหลวงและต่างประเทศแล้ว เป็นแผนการสร้างความพร้อมที่จะสร้างความเจริญมั่งคั่งสู่โครงการนี้
อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนอกเหนือจากนี้ยังจะมีอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีระดับโลกอีกมากมายตามมา อาทิเช่น
- อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน
- ศูนย์ซ่อมเครื่องบินระดับภูมิภาค
- การผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
- การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
- การผลิตยางล้อเครื่องบิน
- อุตสาหกรรมปิโตรเคมี – ชีวภาพ
- สวนอุตสาหกรรมดิจิทัลปาร์คระดับโลก
เห็นภาพวิสัยทัศน์และแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลแล้วเป็นที่น่ายินดีที่กล้าตัดสินใจที่จะทุ่มเทงบประมาณมหาศาลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจตะวันออกในอีก 5 ปี ข้างหน้า แต่สิ่งที่รัฐบาลจะต้องตระหนักถึงนั้นคือการผลิตและพัฒนากำลังคนไปรองรับกับเทคโนโลยีระดับ 4.0 ได้อย่างไร และพอเพียงต่อความต้องการเพียงใด ข่าวว่ากรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีแผนพัฒนากำลังคนระดับฝีมือมากกว่า 2 ล้านคนไว้รองรับ
อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีระดับ 4.0 นั้น มิได้เพียงแต่ต้องการช่างฝีมือที่ใช้แรงงานเท่านั้น แต่ต้องการวิศวกร และนักเทคโนโลยีระดับสูงเฉพาะทางอีกส่วนหนึ่งและน่าจะมากด้วย เพราะทั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมยุค 4.0 ต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะทางด้วยกันทั้งสิ้น สถาบันใดจะผลิตกำลังคนด้านใดจะต้องมีแผนรองรับ และกำหนดนโยบายและแผนการศึกษาให้ชัดเจน เพราะกว่าจะพัฒนาหลักสูตร
พัฒนาเครื่องจักรเครื่องมือในการเรียนการสอนต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงจะได้คนรุ่นแรกออกมา ซึ่งยังไม่เห็นแผนการพัฒนากำลังคนในส่วนนี้
ระเบียงเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาความเจริญไปสู่ภูมิภาคน่าสนับสนุนให้เกิดขึ้น ทั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ โดยวิเคราะห์การลงทุนและอุตสาหกรรมที่จะเกิดมูลค่าเพิ่ม การมุ่งนโยบายให้แต่ละกลุ่มจังหวัดเป็นจังหวัด 4.0 เองคงเกิดได้ยากยิ่ง รัฐบาลพึงมีแผนในภาคอื่นๆ ต่อไป
การเป็นประเทศไทย 4.0 หรือเศรษฐกิจ 4.0 ได้นั้น มีเงินอย่างเดียวคงเกิดได้ยาก เพราะปัจจัยสำคัญคือคนต้องเป็นคน 4.0 ควบคู่ไปด้วย ประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจก้าวหน้าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ต้องพัฒนาการศึกษาเพื่อผลิตคน 4.0 เป็นปัจจัยหลัก หากคิดลงทุนในผลลัพธ์สุดท้าย แล้วอย่าลืมการลงทุนเพื่อคนตั้งแต่บัดนี้ด้วย