วิกฤติปัญหาการกักตุนหน้ากากอนามัย สินค้าจำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด -19 เป็นปัญหาสำคัญในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และอินโดนีเซีย
ในขณะที่บางประเทศยังเกิดความแตกตื่นกัดตุนสินค้าอื่น ที่ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ เช่น กระดาษชำระ ถึงขนาดที่ในฮ่องกงมีโจรปล้นกระดาษชำระทีเดียว
ขณะที่ในประเทศไทย เริ่มมีความเคลื่อนไหวในการกักตุนสินค้าประเภทข้าวสาร อาหารแห้ง และน้ำมันจนเกลี้ยงชั้นวางของในห้างสรรพสินค้า
ปัญหาการกักตุนสินค้านี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความหวาดกลัว และหวั่นวิตกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะนี้ ไม่รู้จะยุติลงเมื่อไหร่
อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือกลุ่มบุคคลที่แสวงหาผลกำไรจากสถานการณ์วิกฤติ จึงเกิดการกักตุน การโก่งราคาสินค้า ทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้าสำหรับบุคลากรทางการแพทย์
ปัญหาดังกล่าวกำลังกลายเป็นวิกฤติเสถียรภาพของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการกล่าวหาบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับรัฐมนตรี มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการกักตุนหน้ากากอนามัย กลายเป็นคลื่นความไม่พอใจที่ถาโถมเข้าใส่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนกลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ
เพราะแม้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหรกณ์ จะยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้อง และได้ดำเนินการปลด นายพิตตินันท์ รักเอียด ออกจากคณะทำงานแล้ว แต่กระแสกดดัน ร.อ.ธรรมนัส ยังมีทั้งจากภายในพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล
ก่อนหน้านี้ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) ประจำทำเนียบรัฐบาลระบุว่า ประเทศไทย มีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยจำนวน 11 แห่ง ผลิตได้วันละ 1.2 ล้านชิ้น และ 36 ล้านชิ้นต่อเดือน ในขณะที่คนไทยมีประมาณ 67 ล้านคน แสดงว่า 2 คน มีใช้ 1 คน 1 ชิ้น ต่อเดือน เดิมที่ไม่ขาดแคลนเพราะใช้เฉพาะผู้ป่วย และคนกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น และยังมีการนำเข้าอีก 20 ล้านชิ้นต่อเดือน แต่ปัจจุบันจีนผู้ส่งออกสำคัญไม่ส่งออกแล้ว เหลือที่นำเข้าได้เพียง 1 ล้านชิ้นต่อเดือนเท่านั้น
ขณะที่กรมการค้าภายในต้องส่งทหารไปคุมโรงงานผลิตแล้วนำส่งตัวเลขการผลิตให้ศูนย์หน้ากากอนามัยที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข บริหารจัดสรรปันส่วน โดย 700,000 ชิ้นแรก จัดให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกแห่ง ทั้งรัฐ เอกชน และผู้มีหน้าที่ให้เพียงพอ
ส่วนกระทรวงมหาดไทย ได้อนุมัติงบประมาณ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ในการจัดทำหน้ากากอนามัยทางเลือก หรือหน้ากากอนามัยแบบผ้าให้แก่ประซาซนในพื้นที่เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 7,774 แห่ง สำหรับจัดทำหน้ากากอนามัยแบบผ้าจำนวน 50 ล้านชิ้นตามโครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา(COVID -19)
ดังนั้น แม้รัฐบาลจะออกมามาตรการในการแก้ไขปัญหาออกมารองรับวิกฤติการขาดแคลนหน้ากากอนามัย เพื่อประคับประคองสถานการณ์ได้ แต่วิกฤติแห่งความศรัทธาที่มีต่อรัฐบาลนั้น ดูเหมือนจะเป็นโจทย์ใหญ่กว่าในเวลานี้ เพราะแม้เชื้อไวรัสโควิด-19 จะอันตราย แต่ก็ยังไม่รุนแรงเท่าไวรัสความไม่เชื่อมั่น