ทวี สุรฤทธิกุล การปกครองย่อมแปรผันตามสังคมที่ผันแปร สาเหตุที่การปกครองของกรุงศรีอยุธยาไปกันได้ดีกับแนวคิดการปกครองแบบ “เทวราชา” ก็เนื่องด้วยสังคมไทยในสมัยนั้นต้องการการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดและเข้มแข็ง อันเป็นผลมาจากการแข่งขันกัน “สร้างราชอาณาจักร” ของรัฐชาติต่างๆ ในบริเวณดินแดนสุวรรณภูมิ มีพม่า ไทย ลาว เขมร และญวน เหล่านี้ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการสร้างกองทัพให้เข้มแข็ง การควบคุมผู้คนจึงต้องกระทำด้วยความกวดขันเคร่งครัด ศาสนาฮินดูพราหมณ์อันเป็นที่มาของแนวคิดเทวราชา เป็นศาสนาที่แบ่งคนออกเป็นวรรณะ เพื่อกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของคนในแต่ละวรรณะนั้น วรรณะแปลว่าสี ซึ่งแต่ละวรรณะนั้นจะแบ่งตามสีอวัยวะในส่วนต่างๆของพระพรหม ทั้งหมดมี 4 วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร โดยวรรณะพราหมณ์เกิดจากพระโอษฐ์(ปาก)ของพระพรหม มีสีขาว ทำหน้าที่สวดมนตร์และบูชาพระผู้เป็นเจ้า วรรณะกษัตริย์เกิดจากพระอุระ(อก)ของพระพรหม มีสีแดง ทำหน้าที่เป็นนักรบปกป้องผู้คนในดินแดน วรรณะแพศย์เกิดจากพระเพลา(ตัก)ของพระพรหม มีสีเหลือง ทำหน้าที่ค้าขายแสวงหาทรัพย์สินต่างๆ และวรรณะศูทรเกิดจากพระบาท(เท้า)ของพระพรหม มีสีดำ ทำหน้าที่ใช้แรงงานและรับใช้คนในวรรณะอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีคนอีกพวกหนึ่งที่เรียกว่า “จัณฑาล” ซึ่งก็คือคนพวกที่เกิดจากการแต่งงานของคนต่างวรรณะ จึงถูกกีดกันให้ออกไปอยู่นอกวรรณะ ถือเป็นคนที่มีฐานะต่ำที่สุด ถึงขั้นที่ไม่นับพวกจัณฑาลนี้เป็นคนหรือมีตัวตนอยู่ในสังคม การแบ่งแยกผู้คนอย่างเคร่งครัดของศาสนาพราหมณ์ฮินดูนี้ทำให้อำนาจของกษัตริย์อยุธยามีความเข้มแข็ง ผนวกเข้ากับแนวคิดของศาสนานี้ที่ว่ากษัตริย์คือ “เทพจุติ” คือองค์เทพเจ้ามาเกิด และใช้อำนาจต่างๆ ในฐานะ “สมมุติเทพ” คือด้วยอำนาจของเทพเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นนั่นเอง ทำให้ผู้คนต้องเคารพยำเกรงอย่างเด็ดขาด เพราะกษัตริย์ในระบบนี้เป็นทั้ง “เจ้าเหนือหัว เจ้าแผ่นดิน และเจ้าชีวิต” ที่ราษฎรทุกคนต้องเทิดทูนบูชาและปฏิบัติตามภายใต้ “พระบรมเดชานุภาพ” นั้นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงบิดพริ้ว สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1974 – 2031) ได้ทรงสร้างระบบเทวราชานี้ให้เข้มแข็ง ทั้งที่สร้างขึ้นด้วยระบบ “จตุสดมภ์” คือระบบราชการในส่วนกลางให้มี “4 เสาหลัก” ได้แก่ขุนนางในราชการหลัก 4 ส่วนคือ เวียง วัง คลัง และนา และมีตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีอีก 2 คือ สมุหพระกลาโหมดูแลเหล่าทหาร และสมุหนายกดูแลพลเรือน และที่ทรงสร้างโดยกำหนดทำเนียบศักดินาตามชั้นยศและสถานภาพของผู้คนในสังคม ตั้งแต่ขุนนางชั้นเจ้าพระยาลงมาจนถึงราษฎรในชั้นไพร่และทาส เพื่อกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในตำแหน่งราชการสำหรับข้าราชการ กับการเกณฑ์แรงงานสำหรับราษฎรทั่วไป รวมถึงเพื่อการลงอาญาหากคนเหล่านี้กระทำผิด โดยมีความหนักเบาของโทษตามความสูงต่ำของศักดินานั้นด้วย คำว่า “ทาส” ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในสมัยอยุธยานี่เอง นอกจากจะมีกำหนดไว้ในทำเนียบศักดินาแล้ว ยังปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวงในหมวดที่เรียกว่า “กฎหมายลักษณะทาส” ซึ่งมีการจัดแบ่งทาสเป็น 7 ประเภท คือ 1. ทาสสินไถ่ เป็นทาสที่มีมากที่สุดในบรรดาทาสทั้งหมด โดยเงื่อนไขของการเป็นทาสชนิดนี้ คือ การขายตัวเป็นทาส เช่น พ่อแม่ขายบุตร สามีขายภรรยา หรือขายตัวเอง ดังนั้น ทาสชนิดนี้จึงเป็นคนยากจน ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวหรือตนเองได้ จึงได้เกิดการขายทาสขึ้น โดยสามารถเปลี่ยนสถานะกลับไปเมื่อมีผู้มาไถ่ถอน และทาสชนิดนี้ที่ปรากฏในวรรณคดีไทยคือนางสายทองซึ่งขายตัวให้กับนางศรีประจันนั่นเอง 2. ทาสในเรือนเบี้ย คือเด็กที่เกิดขึ้นระหว่างที่แม่เป็นทาสของนายทาส ทาสชนิดนี้ไม่สามารถไถ่ถอนตนเองได้ 3. ทาสที่ได้รับมาด้วยมรดก คือทาสที่ตกเป็นมรดกของนายทาส เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนายทาสคนเดิมเสียชีวิตลง และได้มอบมรดกให้แก่นายทาสคนต่อไป 4. ทาสท่านให้ คือทาสที่ได้รับมาจากผู้อื่น เพื่อแลกเปลี่ยนหรือมอบให้ด้วยเหตุผลต่างๆ 5. ทาสที่ช่วยไว้จากทัณฑ์โทษ ในกรณีที่บุคคลนั้น เกิดกระทำความผิดและถูกลงโทษเป็นเงินค่าปรับ แต่บุคคลนั้น ไม่มีความสามารถในการชำระค่าปรับ หากว่ามีผู้ช่วยเหลือให้สามารถชำระค่าปรับได้แล้ว ถือว่าบุคคลนั้น เป็นทาสของผู้ให้ความช่วยเหลือในการชำระค่าปรับ 6. ทาสที่ช่วยไว้ให้พ้นจากความอดอยาก ในภาวะที่ไพร่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้ประกอบอาชีพได้แล้ว ไพร่อาจขายตนเองเป็นทาสเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือจากนายทาส และ 7. ทาสเชลย คือทาสจากการชนะสงคราม ผู้ชนะสงครามจะกวาดต้อนผู้คนของผู้แพ้สงครามไปยังเมืองของตน เพื่อนำผู้คนเหล่านั้นไปเป็นทาสรับใช้ คนไทยจำนวนมากต้องอยู่ในฐานะทาสมาไม่ต่ำกว่า 400 ปี ถ้านับเป็นรุ่นๆ ตามอายุของครอบครัวคนไทยสมัยโบราณที่เริ่มมีลูกหลายกันราวอายุ 20 ปี ก็อาจจะนับได้ถึง 20 กว่ารุ่น เพราะว่ากว่าที่จะมีการเลิกทาสโดยสมบูรณ์ก็ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124 (พ.ศ. 2488) เป็นฉบับที่ 2 หลังจากที่ได้ทรงออกกฎหมายฉบับนี้เป็นฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2417 ภายหลังที่ทรงครองราชย์ได้ 6 ปี เป็นการปิดฉากของ “สังคมอัปลักษณ์” อันเป็นตราบาปให้กับผู้คนจำนวนมากในสังคมไทยมากว่า 400 ปีนั้น นั่นคือ ร.5 ทรงรับรอง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของคนไทย