ทีมข่าวคิดลึก การเปิดตัวพรรคการเมือง จากปากคำของ "ไพบูลย์ นิติตะวัน" อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ประกาศตั้ง "พรรคประชาชนปฏิรูป"เมื่อภายหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านความเห็นชอบจากการทำประชามติ ได้เพียง 2 วัน ไม่เพียงแต่จะนำมาซึ่งเสียงฮือฮา เพราะถือเป็นการเปิดหน้าเล่นอย่างตรงไปตรงมาของอดีต สปช.ผู้นี้เท่านั้น หากแต่ในขณะเดียวกันยังกลายเป็น "ชนวน" ปลุกให้เกิดคำถามและข้อสังสัยด้วยการหลายประการตามมาเช่นกัน ! ในเรื่องขั้นตอนกระบวนการจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องยาก หากแต่ความเชื่อมั่น และความจริงที่จะปรากฏหลังจากนี้ ว่าแท้จริงแล้ว พรรคประชาชนปฏิรูป ที่ไพบูลย์ อาสาเปิดตัวนำร่อง ประกาศเจตนารมณ์เป็นคนแรกนั้นเป็นเพียงแค่การโยนหินถามทางว่าหากในวันข้างหน้าถ้ามีการพรรคใดพรรคหนึ่งมีเป้าหมายให้การสนับสนุน "บิ๊กทหาร" ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค และเพื่อให้ก้าวต่อไปยังเก้าอี้ "นายกรัฐมนตรี" นั้นจะมีเสียงขานรับหรือเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่อย่างไร ? ประเด็นที่สร้างความสนใจต่อกรณีที่ไพบูลย์ ประกาศจะตั้งพรรคการเมืองในครั้งนี้นั้น กำลังกลายเป็นความเปราะบางและจุดอ่อนให้กับ "บิ๊ก คสช."ไปโดยปริยายเพราะคำถามที่ดังเซ็งแซ่เวลานี้ล้วนแล้วแต่พุ่งเป้าไปที่ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ "บิ๊กป้อม"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทันที เพราะบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ คือผู้ที่ไพบูลย์ ระบุถึงว่าเป็นผู้ที่พรรคประชาชนปฏิรูปพร้อมที่จะสนับสนุนให้เป็นหัวหน้าพรรคและนายกฯ ขณะที่ตัวพล.อ.ประวิตร นั้นยิ่งชัดเจนว่า ในวันนี้เขาเองอยู่ในจุดโฟกัสหลักทางการเมือง มากกว่าใครอื่น ทั้งในแง่ "พี่ใหญ่" ที่กุมอำนาจในทางทหารและมากด้วยคอนเน็กชั่นทางการเมือง นั่นหมายความว่า การประกาศตั้งพรรคการเมืองของไพบูลย์ โดยมีเป้าประสงค์หนุนบิ๊กตู่ ขึ้นมาเป็น "เบอร์หนึ่ง" นั้นยิ่งกลายเป็นการตอกย้ำ ข้อครหาที่ว่าด้วยการสืบทอดอำนาจมากยิ่งขึ้น ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร ต่างพากันปฏิเสธมาโดยตลอด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว พรรคประชาชนปฏิรูป ยังไม่ใช่ "ตัวเลือกสุดท้าย" สำหรับ คสช. หากต้องการปูทางทางการเมืองผ่านกติกาว่าด้วยการเลือกตั้ง แต่อย่างใด เพราะแม้แต่นักการเมืองด้วยกันเอง ยังประเมินว่าตัวไพบูลย์ นั้นแม้จะอยู่ในข่ายที่พร้อมจะเป็น "แนวร่วม" ให้กับ คสช. แต่กลับยังไม่ใช่ "ตัวเลือก" อีกทั้งการโยนหินถามทางในลักษณะเช่นนี้ ดูเหมือนว่าฝ่ายที่ได้ประโยชน์เห็นจะมีแต่ไพบูลย์และพรรคพวกเท่านั้น ขณะที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ และบิ๊กคสช. ต่างกลายเป็น "เป้านิ่ง" โดยใช่เหตุ ! อย่างไรก็ดีความคึกคักของบรรยากาศการเมืองกำลังคืนกลับมา หลังการออกเสียงประชามติ ผ่านพ้นไปได้อย่างฉลุยจากนี้ไปจะมีการเปิดตัวเปิดหน้าเล่น ของบรรดาพรรคหน้าใหม่ ที่หวังแจ้งเกิดในสนามเลือกตั้งรอบหน้า ด้วยเพราะมีกติกาที่เอื้อมากกว่าที่ผ่านมา ขณะที่พรรคการเมืองเก่าทั้งพรรคใหญ่ พรรคขนาดกลางไปจนถึงพรรคเล็ก ว่ากันว่าเส้นทางที่เดินไปสู่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นั้น ต้องถือว่ามากน้อยแตกต่างกัน สุดแท้แต่ว่าใครจะเลือกยืนอยู่ที่จุดใด เลือกจับขั้วกับ "กลุ่มอำนาจ" ฝ่ายไหนต่างหากคือ "คำตอบสุดท้าย" !