รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ความวิตกกังวล เป็นเรื่องธรรมชาติอย่างหนึ่งที่พบได้เป็นปกติในมนุษย์ เพื่อเตรียมพร้อมในการเผชิญปัญหาหรือสถานการณ์ความเครียดต่างๆ โดยความวิตกกังวลนั้น หากในอยู่ในระดับพอดี ย่อมเป็นผลดี เพราะทำให้รู้จักเตรียมตัวต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดในอนาคต ผลักดันให้คนเราแก้ปัญหาและคิดพัฒนาสิ่งต่างๆ
แต่ถ้าความคิดวิตกกังวลนั้น มากเกิน ควบคุมไม่ได้หรือไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ ร่วมกับมีอาการมากเกินไป ก็จัดเป็นความผิดปกติแบบหนึ่งก็ทำให้เกิดความเครียด ความทุกข์ใจ จนทำให้เกิดโรคภัย เช่น โรคเครียด ได้ในที่สุด
บ้านเมืองทุกวันนี้ประสบกับปัญหาต่าง ๆ มากมายทั้งความวุ่นวายทางการเมือง การทะเลาะเบาะแว้งของรัฐบาลและฝ่ายค้าน สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ตลอดจนภัยสังคมที่มีอยู่รอบตัว ซึ่งเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมานานที่แม้ทุกฝ่ายพยายามหาแนวทางแก้ไข แต่ก็ยังคงสร้างความวิตกกังวลและความหนักใจให้กับประชาชนอย่างมาก เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อสภาพปัญหาของประเทศ ตลอดจนการแสวงหาแนวทางในการควบคุมความวิตกกังวลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ในประเด็น 5 ความวิตกกังวล” ของประชาชน ณ วันนี้ จำนวน 1,162 คน สรุปผลได้ ดังนี้
“5 อันดับ ความวิตกกังวล” ของประชาชน ณ วันนี้ คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 78.45 คือ ปากท้อง โดยสาเหตุ คือ สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ รายได้ไม่พอจ่าย สินค้าขายเกินราคา ทำมาหากินยากขึ้น มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ ส่วนวิธีป้องกัน/แก้ไข ได้แก่ ต้องดูแลตัวเอง ประหยัด อดทน ทำงานให้มากขึ้น หารายได้เสริม รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ
รองลงมา ได้แก่ โควิด-19 ร้อยละ 71.47 โดยสาเหตุ คือ ระบาดทั่วโลก มีผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงเข้ามาในไทยต่อเนื่อง มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ยังไม่มีมาตรการป้องกันที่ชัดเจน หน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ขาดตลาด ฯลฯ ส่วนวิธีป้องกัน/แก้ไข รัฐบาลมีพื้นที่กักตัวผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เร่งแก้ปัญหาเรื่องหน้ากากอนามัย ดูแลช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ประสบปัญหา รายงานข้อมูลที่เป็นจริงให้ประชาชนได้ รับรู้ ฯลฯ
โจร ผู้ร้าย ร้อยละ 64.51 โดยสาเหตุ คือ มีข่าวให้เห็นทุกวัน พฤติกรรม รูปแบบการก่อเหตุรุนแรง มากขึ้น กลัวว่าจะเกิดกับตัวเองหรือกับคนในครอบครัว สภาพเศรษฐกิจและสังคมเสื่อมโทรม ฯลฯ ส่วนวิธีป้องกัน/แก้ไข ช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ สายตรวจในทุกพื้นที่ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพิ่มบทลงโทษให้รุนแรง ฯลฯ
การเมือง ร้อยละ 58.93 โดยสาเหตุ คือ รัฐบาลแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ตรงจุด มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีการชุมนุมเคลื่อนไหว บ้านเมืองวุ่นวาย ฯลฯ ส่วนวิธีป้องกัน/แก้ไข ติดตามข่าวสารอย่างมีสติ รัฐบาลควรเร่งสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างสร้างสรรค์ ฯลฯ
ธุรกิจท่องเที่ยว ร้อยละ 57.60 โดยสาเหตุ คือ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ผู้ประกอบการขาดทุน ปิดกิจการ คนตกงาน ฯลฯ ส่วนวิธีป้องกัน/แก้ไข รัฐบาลและภาคเอกชนต้อง หารือร่วมกัน รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ เยียวยา ธุรกิจท่องเที่ยวต้องปรับตัว กระตุ้นการท่องเที่ยว ในประเทศ ฯลฯ
เมื่อพิจารณาจากผลการสำรวจแล้ว ก็คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประเด็นที่ประชาชนมีความกังวลใจ ล้วนเป็นประเด็นที่น่าจะสร้างความหนักอกหนักใจและส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึก และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นหากรัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ก็ย่อมทำให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นสุข ไร้ความวิตกกังวล
ความวิตกกังวลที่ประชาชนมีต่อประเทศ ณ วันนี้ เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความปรารถนาดี แต่หากมีความวิตกกังวลมากเกินไป จนแปรเปลี่ยนเป็นความเครียด การจ้องจับผิดการทำงานของรัฐบาลแล้ว ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะการนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤติที่รุมล้อม... ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นเข้าไปอีก
คงถึงเวลาที่คนไทยต้องใช้ความวิตกกังวลในเชิงบวก โดยการให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ปัญหา ซึ่งหากเปลี่ยนความวิตกกังวลเป็นความร่วมมือร่วมใจกัน...เชื่อว่าประเทศไทย ฝ่าฟันปัญหาที่เกิดขึ้นได้แน่นอน..!!
วิกฤติปัญหา ณ วันนี้ แม้จะหนัก...แม้จะมีมากมาย...หรืแม้แต่จะแก้ไขได้ไม่ง่าย แต่ถ้า “คนไทยรักกัน...สามัคคีกัน...เชื่อมั่นซึ่งกันและกัน” ต่อให้ต้องเผชิญกับวิกฤติปัญหาที่หนักกว่านี้เราก็ยังผ่านพ้นมาด้วยกันได้...ไม่ใช่หรือ?
ขอให้คนไทยรักกันเพียงเท่านั้น...ต่อให้อีกกี่วิกฤติ...อีกกี่ปัญหาก็ผ่านไปได้...แต่ถ้าคนไทย ไม่รักกัน...สุดท้ายประเทศชาติจะเป็นเช่นไร...ก็น่าจะรู้อยู่แก่ใจไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาว..!!?