เศรษฐกิจติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนงอม เหมือนอยู่ในห้องไอซียู ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ สัญญาณชีพเริ่มอ่อนแรง โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และผลกระทบห่วงโซ่ยังธุรกิจอื่นๆ ล่าสุด คณะรัฐมนตรีชะลอการพิจารณามาตรการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทั้งนี้ข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือนกุมภาพันธ์ จากผลสำรวจของคณะกรรมการหอการค้า ประธาน และรองประธานหอการค้าไทยทั่วประเทศ จำนวน 384 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-28 กุมภาพันธ์ 2563 ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐฏิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับ 44.9 ซึ่งเป็นดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 27 เดือน เป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ลดลง ผลสำรวจยังระบุว่า ไทยยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงของการแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้ภาคบริการทั้งการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆได้รับผลกระทบ รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งทำให้สินค้าเกษตรได้รับความเสียหายมีผลต่อรายได้ภาคเกษตร กำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีฯ ปัจจุบันปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 42.8 และดัชนีฯ อนาคตลดลงมาอยู่ที่ 47.0 ทั้งนี้เมื่อแยกตามภูมิภาคต่างๆ ยังพบการปรับตัวลดลงในทุกภูมิภาค และยังคงมีความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีโอกาสที่ดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทยจะปรับตัวลดลงได้อีก โดยส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกของปีนี้ ยังไม่ฟื้นตัว และคาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกเม็ดเงินจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจ?กว่า 5 แสนล้านบาท จากผลกระทบ อาทิ โควิด-19 และภาคการส่งออก เป็นต้น อีกด้านหนึ่งมีข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสCOVID-19 ที่กระจายไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยว่ายังไม่มีสัญญาณว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง โดยมองว่าความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะลากยาวไปจนถึงครึ่งปีแรก ขณะที่กำลังซื้อของคนในประเทศยังคงอ่อนแรงต่อเนื่อง จากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ การว่างงานที่เพิ่มขึ้น และภัยแล้ง จะส่งผลให้มูลค่าตลาดค้าปลีกในช่วงครึ่งแรกปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวสูง จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป รวมถึงบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศที่ซบเซา โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน ที่น่าจะมีการใช้จ่ายที่ลดลง และอาจจะถูกแทนที่ด้วยกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค จำพวกอาหารแห้ง ของใช้ส่วนตัว รวมถึงหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ล้างมือ ซึ่งมีความจำเป็นและอาจมีการสำรองสินค้ากลุ่มนี้ไว้บ้างตามกำลังซื้อท่ามกลางความกังวลต่อ COVID-19 อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดสามารถควบคุมได้ภายในครึ่งปีแรก ประกอบกับการมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อต่างๆ ของทางภาครัฐ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการค้าปลีก โดยเฉพาะกลยุทธ์ทางด้านราคา ควบคู่ไปกับการมีมาตรการดูแลและป้องกันทางด้านสุขภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการภายในร้านค้าปลีก ก็น่าจะช่วยประคับประคอง และทำให้บรรยากาศของการใช้จ่ายไปยังธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลังค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวได้บ้าง ทั้งนี้ ต้องจับตาชุดมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่ามีมาตรการใดบ้าง และจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ให้สามารประคับประคองให้ยืนระยะไปได้ หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปถึงครึ่งปีจริง ในขณะที่วิกฤติภัยแล้งกำลังจะตามมา