ท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมทางการเมือง กับสถานการณ์ที่รัฐบาลเผชิญหน้ากับการชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองหรือแฟลชม็อบของบรรดานักเรียน และนักศึกษาต่างๆ ขณะที่ปัญหาภาวะเศรษฐกิจซบเซา จากผลกระทบรอบด้าน โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19
รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระยะสั้น ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เกิดวิกฤติ ครอบคลุมประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 2 กลุ่มใหญ่คือ
1.ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ
2.ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
โดยในส่วนของผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรและผู้ประกอบอาชีพอิสระ จะใช้วิธีโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหล ตามฐานข้อมูลรายชื่อของกระทรวงการคลัง
ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะใช้กลไกของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐปล่อยเงินกู้ให้ธนาคารพาณิชย์แบบต้นทุนต่ำ เพื่อให้นำไปปล่อยกู้แก่ผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงและทำได้จริง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจะช่วยยืดหยุ่นกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อและการกันสำรองหนี้เป็นการชั่วคราว
ส่วนมาตรการระยะยาวเพื่อดูแลเศรษฐกิจทั้งระบบยังคงดำเนินอยู่ เช่น โครงการประชารัฐสร้างไทย ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แต่ละชุมชนทั่วทั้งประเทศ
ขณะเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวสำคัญในส่วนของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เปิดเวทีพูดคุยรับฟังปัญหาของประชาชน ภายใต้แคมเปญซีรีส์ “มีปัญหา ปรึกษานายกฯ” ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
โดยในครั้งแรก ได้ต้อนรับภาคประชาชน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนประชาชน และตัวแทนผู้ประกอบการอิสระ เพื่อรับฟังปัญหาจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโดยตรง เพื่อนำเสียงสะท้อนที่ได้รับเหล่านั้นไปออกเป็นมาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนได้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชนแต่ละกลุ่มต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากความตั้งใจของตนเองที่ต้องการรับฟังเสียงของประชาชนโดยตรงแบบเปิดใจและเข้าอกเข้าใจถึงสภาวะความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลกอันเนื่องมาจากสงครามการค้าผนวกกับภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจชะงักลงไปอีก สิ่งเหล่านี้นำมาสู่ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน เกษตรกร และการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SME รวมทั้งผู้ประกอบการอิสระ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเพื่อให้การแก้ไขปัญหาตรงจุดสอดคล้องกับสิ่งที่พี่น้องประชาชนประสบอยู่ยิ่งขึ้น จึงจะเปิดรับฟังข้อคิดเห็นและเสียงสะท้อนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบว่าเขาเหล่านั้นต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออะไรเพิ่มเติมให้ครอบคลุมตรงเป้าหมายยิ่งขึ้นเพื่อที่รัฐบาลจะได้นำข้อมูลที่ได้ ไปประมวลและออกมาเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ได้อย่างตรงจุด
ทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนภาคประชาชน เป็นจังหวะของการตั้งรับกับแรงเสียดทานต่างๆ เพื่อดับชนวนระเบิดทางการเมืองจากปัญหาปากท้องของประชาชน และความไม่พอใจต่างๆ
กระนั้น เราหวังว่าเวทีดังกล่าวจะได้นำผลของการพูดคุยนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อีกทั้งสามารถก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยหากมีเวทีสำหรับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และผู้เห็นต่าง ได้นั่งจับเข่าคุยกับนายกรัฐมนตรี เพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในเชิงสร้างสรรค์ ก็จะเป็นมิติใหม่ของการเมืองไทย