บรรยากาศของประเทศไทยยามนี้ เหมือนโดนมรสุมขนาดใหญ่ถาโถมเข้าใส่ หลายปัจจัยส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปัญหาการแพร่ระบาดชองเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 วิกฤติต่างๆเป็นตัวแปรสำคัญที่ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาจากปีที่แล้ว ข่าวคราวที่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการแพระระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ขอความร่วมมือให้พนักงานลาพักโดยไม่รับค่าจ้าง ผู้ค้าเรียกร้องให้ห้างสรรพสินค้าลดค่าเช่า สร้างความวิตกกังวลไม่น้อย ไม่นับแรงงานไทยที่ไปค้าแรงงานในต่างประเทศ ทั้งตามกฎหมาย และลักลอบเข้าไปทำงาน ยกตัวอย่างกรณีแรงงานไทยที่ลักลอบเข้าไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ ที่เรียกร้องต้องการกลับเข้าประเทศ ซึ่งปัยหาเหล่านี้จะนำไปสู่ปัญหาการว่างงานตามมา สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสศช. จับตาปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบตลาดแรงงานและการจ้างงานในปี 2563 มีทั้งหมด 4 ปัจจัย คือ 1.ภาวะภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี กระทบการจ้างงานในภาคเกษตร 2.การส่งออกและการผันผวนของค่าเงินบาท ที่สศช.ประเมินว่าการส่งออกจะขยายตัวได้เพียง 1.4% ปัจจัยลบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมการส่งออก 3.ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2563 ที่เพิ่งจะมีเม็ดเงินลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจในส่วนของงบลงทุนเพียง 6.3% ของวงเงินลงทุนทั้งหมด ทำให้เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำและส่งผลต่อการจ้างงาน ในภาคการก่อสร้างได้ 4.การระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่จะกระทบกับภาคการท่องเที่ยว ของไทยโดยตรง ในสาขาบริการหลัก 3 สาขา คือ สาขาการค้าส่งและค้าปลีก สาขาการขนส่ง และสาขาโรงแรมภัตตาคาร และอาจเกี่ยวเนื่องไปถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมได้ ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ธุรกิจภาพรวมทั้งหมดมีการชะลอรับแรงงานใหม่ และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทันที คือ ด้านการท่องเที่ยวอาทิ โรงแรม ร้านค้า สปา ร้านอาหาร ฯลฯ ที่นักท่องเที่ยวหายไปมากกว่า 60% บางส่วนเริ่มปรับแผนลดคน เช่นให้สมัครใจลาออก สมัครใจหยุดงานไม่รับเงินเดือน และเลิกจ้าง ซึ่งหากยืดเยื้อสถานการณ์การเลิกจ้างก็จะมีสูงขึ้น โดยแรงงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ในระบบ 3.2 ล้านคนนอกระบบอีก 7 ล้านคนเหล่านี้จะกระทบก่อนแต่จะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่ว่าการแพร่ระบาดของโควิด -19 จะจบเร็วหรือช้าด้วย ขณะเดียวกันผลกระทบจะลามไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น การผลิตผ้าเช็ดตัว สบู่ สมุนไพร ค้าปลีก ค้าส่ง ที่นักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอย ถือเป็นเรื่องที่ต้องระวังเพราะเศรษฐกิจไทยจะเปราะบางมาก ทั้งนี้ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ยังคาดการณ์ว่า การจ้างงานของไทยในปี 2563 จะชะลอตัวลงไปกว่าเดิม โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ที่จะทะยอยเข้ามาในระบบแรงงานเพิ่มเติมในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ประมาณ 500,000 คนจะมีโอกาสได้งานทำค่อนข้างต่ำ ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการหรือแผนรองรับไว้ เช่น การทำโครงการต่าง ๆ โดยใช้งบประมาณจ้างเด็กจบใหม่เช่นอดีตที่เคยดำเนินการไว้เป็นต้น เราเห็นว่า ผลกระทบของกลุ่มต่างๆ ส่งผลต่อห่วงโซ่เศรษฐกิจของประเทศทุกระดับ ความคาดหวังและแรงเสียดทานต่างๆจึงถาโถมไปที่รัฐบาลในฐานะผู้บริหารประเทศที่นำประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤติต่างๆโดยเร็ว ด้วยมาตรการที่มีประสิทธิภาพและเห็นผลทั้งในระยะสั้น กลางและยาว เพื่อความมั่นคงยั่งยืน ทั้งนี้ทั้งนั้น หากประชาชนอยู่ยาก รัฐบาลก็อยู่ยาก