สถานการณ์เศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบที่มีปัญหาลากยาวมา หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจจีนหยุดชะงัก และซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกด้วย
มาตรการด้านการเงิน ที่เข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ล่าสุด นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มลุกลามและส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้างต่อธุรกิจและประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์และมีความห่วงใยมาโดยตลอด จึงได้ร่วมกับสถาบันการเงิน กำหนดมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ธุรกิจทุกประเภทและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวในเชิงรุก เน้นการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและเร่งปรับโครงสร้างหนี้อาทิ ให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม พักชำระหนี้เป็นการชั่วคราวขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ลดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตได้ต่ำกว่า 10% เพิ่มวงเงินชั่วคราวสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล
โดยต้องการช่วยให้ลูกหนี้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปได้ โดยกำหนดเป็นมาตรการชั่วคราวระยะเวลา 2 ปีระหว่างวันที่ 1 ม.ค.63-31 ธ.ค.64 เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง และปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที ธปท.จึงได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดชั้นและการกันเงินสำรอง รวมทั้งการรายงานข้อมูลเครดิตของลูกหนี้เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ ธปท.คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าลูกหนี้จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินการตามมาตรการข้างต้น และส่งผลให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพสามารถพลิกฟื้นธุรกิจได้ทันท่วงที ทั้งนี้สามารถติดตามมาตรการการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ของแต่ละสถาบันการเงินผ่านเว็บไซต์ของสถาบันการเงินนั้นๆและ ธปท.
ขณะที่นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กระทรวงการคลัง และ ธปท. ได้ดำเนินการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินเพิ่มเติม โดยขยายวงเงินรายได้ต่างประเทศที่ไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศจากไม่เกิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.)ต่อครั้ง เป็น 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) ต่อครั้ง ซึ่งครอบคลุมทั้งรายได้จากค่าสินค้าส่งออก และรายได้อื่นๆ ด้วย
สำหรับผู้ที่มีรายได้จากสินค้า ส่งออกตั้งแต่ 1,000,000 ดอลลาร์ สหรัฐ(สรอ.) ต่อครั้ง ธปท. ได้ผ่อนคลายเกณฑ์ให้สามารถใช้หักกลบรายจ่ายก่อนได้ และนำกลับเข้าประเทศเฉพาะส่วนที่เหลือ โดยเพียงลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ธปท. และยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้ การปรับปรุงหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับภาคเอกชนในการบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศ ลดภาระต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งผู้ส่งออกที่ได้รับประโยชน์ข้างต้น คิดเป็นกว่า 80% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
นอกจากนี้ การผ่อนคลายในครั้งนี้ยังช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้น และลดแรงกดดันด้านแข็งค่าของเงินบาทอีกด้วย โดยการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ฯมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563
เราจึงคาดหวังว่า มาตรการนี้จะสามารถประคับประคองให้ประชาชนและภาคธุรกิจ สามารถผ่านพ้นวิกฤติไวรัสโควิด-19ไปได้ หรือช่วยต่อลมหายใจไปอีกเฮือกจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย