เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
เศรษฐกิจวัฒนธรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์น่าจะเป็นเข็มทิศทางสว่างให้สังคมไทยวันนี้ ที่ไม่ได้มองแต่อุตสาหกรรมหนัก ประกอบรถยนต์และอื่นๆ ส่งออกเป็นแสนๆ ล้าน แต่เหลืออยู่ในบ้านเราเท่าไหร่เอง ขณะที่ขายผ้าขาวม้าได้เท่าไรก็ได้หมด และลงไปถึงชุมชนรากหญ้าด้วย
ผ้าข้าวม้าราคาไม่กี่สตังค์ในอดีต วันนี้มีมูลค่าขึ้นมาด้วยความคิดสร้างสรรค์ กลายเป็นแฟชั่นที่หนุ่มสาวสวมใส่เดินบนแค็ทวอล์คในงานแฟชั่นโชว์ระดับอินเตอร์
คุณค่าของผ้าขาวม้าที่โด่งดังวันนี้อยู่ที่การออกแบบประยุกต์ก็จริง แต่ปัจจัยสำคัญ คือเป็นผ้าทอมือ ย่อมสีธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชุมชนไทยมานับพันปี เป็นของใช้ได้สารพัดประโยชน์
สมัยโบราณไม่มีใครเอาผ้าขาวม้ามาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า ใช้แต่นุ่งอยู่บ้าน นุ่งอาบน้ำ เช็ดตัว นุ่งออกไปหาปลา ลงสระลงหนอง ผูกเป็นเปลนอน โพกหัวคาดพุงไปไหนมาไหนเพื่อใช้ปูนั่งปูนอน และอื่นๆ
ผีตาโขน บุญบั้งไฟ แห่เทียนเข้าพรรษา เป็นงานบุญประเพณีวิถีวัฒนธรรมที่ททท.ส่งเสริมให้เป็นงานดึงดูดนักท่องเที่ยว ขายความแปลกใหม่ อลังการงานสร้าง แต่ไม่ได้สื่อสารคุณค่าอะไรนักเพราะคงแยกไม่ได้ว่า อะไรเป็นเรื่องศรัทธาความเชื่อ อะไรเป็นวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ ที่ททท.ส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมจึงไม่ต่างจากที่ประชารัฐส่งเสริมผ้าขาวม้า ทั้งๆ ที่เป็นสองอย่างที่แตกต่างกันในเรื่องคุณค่าและความสัมพันธ์กับวิถีชีวิต ผ้าขาวม้าไม่เกี่ยวกับความเชื่อ ไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าการเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทย
แต่ผีตาโขนไม่ใช่ เพราะเป็นความเชื่อของคนในท้องถิ่น เอาผีตาโขนมาเล่นกลางถนนเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวประหนึ่งเอาฟ้อนเล็บหรือเซิ้งกระติ๊บข้าวมารับแขกเป็นการกระทำที่ไม่ถูกกาละเทศะ เหมือนมีใครเอาพระพุทธรูปไปประดับร้านอาหารในต่างประเทศที่คนไทยประท้วง
ชาวด่านซ้ายเมืองเลยอาจไม่ได้ประท้วงเพราะถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐอำนาจทุน แต่พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความไม่เห็นด้วยในการพูดคุยไม่เป็นทางการ เอาผีตาโขนไปแสดงต่างประเทศเพื่อเชิญชวนฝรั่งมาเที่ยวเมืองไทย คนที่ไปก็ดีใจเพราะได้ไปเที่ยวเมืองนอก เป็นคนรุ่นใหม่ที่อาจไม่เข้าใจคุณค่าและความหมายลึกๆ ของวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน
แม้แต่การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ พัฒนาให้เป็น "สินค้า" หลายอย่าง เป็นโอท็อบหลายดาวก็ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ แต่หลายครั้งก็ไม่ได้คำนึงถึง "คุณค่า" ที่มีมากกว่ามูลค่าหรือเงินที่ขายได้ จึงไม่ใช่การ "ต่อยอดภูมิปัญญา" แต่เป็นการ "เด็ดยอด" มากกว่า
การต่อยอด คือ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่บนฐานของ "เรื่องเล่า" ของสิ่งนั้น เป็นการสืบทอด ซึ่งมีคุณค่าไม่น้อย อย่างเรื่องผ้าขาวม้าผืนน้อยอาจนำไปสู่การเข้าใจวัฒนธรรมไทยได้อีกมากมายหลายด้านหลายมิติ สมุนไพรอย่างฟ้าทะลายโจรอาจไม่เพียงแก้เจ็บคอแต่นำไปสู่ "สุขภาพองค์รวม" ของวิถีดั้งเดิมได้
การส่งเสริมการท่องเที่ยวอาจทำได้เงินทองเข้าประเทศมากมาย แต่ที่ควรจะได้มากกว่านั้น คือ การเข้าใจถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทย ทรัพยากรอันเป็นมรดกที่ปู่ย่าตายายและธรรมขาติได้ให้เรามา เพื่อว่าเราจะได้มีหลักคิดและแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ทำให้คนมาเที่ยวมีความสุข คนรับก็มีความสุข
อนาคตของสังคมไทยน่าจะพึ่งการท่องเที่ยวได้มากกว่าอะไรอื่นๆ อีกด้วยซ้ำ เพราะอุตสาหกรรมก้าวหน้าเราต้องพึ่งพาความรู้และเทคโนโลยีของประเทศที่พัฒนากว่า หรืออะไรที่ต้องการแรงงานถูกเราก็สู้อีกหลายประเทศเพื่อนบ้านเราไม่ได้
แต่สิ่งที่เราสู้ประเทศไหนๆ ในโลกนี้ได้ คือ การท่องเที่ยว เพราะคนไทยมีเกือบทุกอย่างที่โลกวันนี้ต้องการและโหยหา ไม่ว่าธรรมชาติ ทะเล ภูเขา ไม่ว่าความเป็นมิตรกับคนต่างชาติ ความมีน้ำใจ มีวิญญาณของการให้บริการและรับแขก
เรามีข้าว มีอาหารที่อร่อยติดใจคนทั่วโลก มีผัก ผลไม้ที่ถูกปากถูกใจ มีผ้าฝ้าย ผ้าไหมทอมือและย้อมสีธรรมชาติ มีข้าวของเครื่องใช้เป็นศิลปะหัตถกรรมที่อยากได้ติดไม้ติดมือกลับบ้าน มีนวดแผนไทย มีสปา มีสมุนไพรบำรุงสุขภาพนานาชนิด มีวัดวาอารามให้ไปฝึกสมาธิ หาความสงบ
วันนี้คนไทยอาจยังไม่เข้าใจศักยภาพของตนเอง อาจยังไม่เข้าใจเทรนด์ของโลกที่ผู้คนแสวงหาสิ่งดีๆ ที่ชุมชนเท่านั้นมีและทำได้ดี ยังมีแต่การทำโฮมสเตย์ แบบที่ไม่ชวนฝรั่งต่างชาติไปพักเรามีศักยภาพที่จะทำบูติคโฮเต็ล ที่อาจไม่อลังการและแพงเหมือนในกรุงเทพฯ แต่ปรับให้เป็นเหมือน Gasthous หรือ Gasthof ในเยอรมัน ออสเตรีย สวิส ที่บริหารโดยครอบครัว มีห้องพักสัก 5-10 ห้อง มีอาหารเช้าให้แขก และอาหารเที่ยงเย็นให้คนทั่วไป คนไทยจะทำเรื่องนี้ได้ดีกว่าใครๆ ถ้ามีการเรียนรู้พัฒนา
สังคมไทยมีศักยภาพการท่องเที่ยวสูงมาก อยู่ที่ผู้กำหนดนโยบายว่าเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของนักท่องเที่ยวมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจเป็นคนละอย่างกับบริษัทที่จัดทัวร์หมู่