แสงไทย เค้าภูไทย คสช.กาโรดแมปการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ที่แม้จะเลื่อนไปจากเดิมเกือบปี แต่ก็เป็นกำหนดการที่แน่นอนกว่าทุกครั้ง ทำให้ตัวบ่งชี้ทิศทางการเมืองหลังเลือกตั้งปรากฏชัดขึ้นจนสามารถบ่งชี้ได้ว่าใครเป็นใครในสมัยหน้า ตามตารางเวลาการเลือกตั้งนั้น หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 6 เมษายนศกนี้ จะต้องร่างและพิจารณากฎหมายลูกให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ นั่นคือเดือนพฤศจิกายน 2560 จากนั้นนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่จะต้องพิจารณากฎหมายลูกให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งจะตกต้นเดือนมกราคม 2561 เมื่อผ่านสภานิติบัญญัติ จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 90 วันซึ่งจะตกราว เมษายน 2561 จากนั้นจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันคือเดือนกันยายน 2561 ก่อนถึงการเลือกตั้งส.ส.หรือเลือกตั้งใหญ่ จะมีกิจกรรม 2 อย่างต้องดำเนินการ คือ การเลือก สมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหา 250 คนกับการเลือกตั้งท้องถิ่นจำนวน 7,983 แห่ง ทั้ง 2 งานนี้ ถือเป็นไฮไลท์ของการเลือกตั้งในปีหน้า ที่เป็นเครื่องชี้อนาคตของประเทศไทยได้ทีเดียว การสรรหาสมาชิกวุฒิสภานั้น จะเป็นตัวบ่งบอกทิศทางการเมืองหลังการเลือกตั้งได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ร้ายหรือดี ราบรื่นหรือขัดแย้งรอบใหม่ที่รุนแรง เพราะส.ว.สรรหาชุกใหม่ เชื่อว่า จะไปจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติขณะนี้ส่วนหนึ่ง สภาปฏิรูปแห่งชาติอีกส่วนหนึ่ง หากพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนี้หมายหัว ตีกรอบเข้มสุดยอดผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ก็จะไม่ราบรื่น แต่ถ้าเป็นพรรคตามใบสั่งของคสช.รัฐบาลชุดหน้าก็เสมือนสืบทอดอำนาจไปจากรัฐบาลชุดนี้ ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น อาจจะดูเป็นปกติธรรมดา แต่เมื่อดูลึกๆแล้ว มีความหมายต่อการเลือกตั้งครั้งหน้ามาก เพราะเท่าที่ผ่านมา การเมืองท้องถิ่นยึดโยงกับการเมืองระดับชาติมาก เนื่องจากเป็นองค์กรการเมืองหน่วยเล็กสุด แต่กุมเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ พรรคการเมืองใหญ่จึงเข้ามาดึงไปเป็นฐานเสียงของตน เทศบาลตำบล 1,129 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) 5,423 แห่ง รวมกัน 6,552 แห่ง คะแนนเสียงเท่ากับคะแนนเสียงเลือกตั้งใหญ่ทั้งประเทศ เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกองค์กรเหล่านี้ เป็นคนคนเดียวกันกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ยิ่งถ้ามีการเลือกตั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านที่เพิ่งจะกลับบ้านไปเล่นสงกรานต์หลังจากยกขบวนมาคัดค้านร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองท้องถิ่นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ตำแหน่งกำนันที่มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี จากเดิมที่อยู่ในตำแหน่งจนเกษียณอายุ 60 ปีแบบข้าราชการประจำ เมื่อครบวาระให้มีการเลือกตั้งเริ่มบังคับใช้เมื่อสัปดาห์ก่อนด้วยแล้ว พรรคการเมืองใหญ่ๆจะได้ฐานเสียงจากส่วนนี้ไปอีกค่อนประเทศ เพราะบุคลากรเหล่านี้ ทั่วประเทศมีจำนวนถึงกว่า 300,000 คน เหตุจากการยึดโยงระหว่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล ฯลฯ กับฝ่ายปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัดกับส่วนกลางจะลดลง โดยฝายการเมืองจะเข้ามาแทนที่ทันที กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่เคยได้ชื่อว่าเป็น "คนของทางราชการ"ก็จะเปลี่ยนไปเป็น "คนของพรรคการเมือง" แทนการปฏิบัติหน้าที่หรือการสร้างผลงงานในพื้นที่จะมีลักษณะ รับนโยบายไปจากพรรค มากกกว่ารับนโยบายจากกรมการปกครองทั้งในส่วนของการปกครองท้องถิ่นและทั้งจากส่วนกลาง ด้วยเหตุนี้ คสช.จึงได้มีคำสั่ง มาตรา 44 ฉบับที่ 8/2560 ระงับการสอบแข่งขันและการดำเนินการคัดเลือกทุกกรณี ทั้งการสอบบุคลภายนอกเข้ารับราชาการ การคัดเลือกเพื่อเปลี่ยนสายงานและการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง มาเป็นของคณะกรรมการกลางที่มีรัฐมนตรีวาการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานโดยตำแหน่งเป็นการดึงอำนาจจากที่เคยกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น กลับมาอยู่ในมือของส่วนกลาง ทั้งนี้เพื่อจะได้ควบคุมกลไกการบริหารและการปกครองส่วนท้องถิ่นเอาไว้ บรรดานายกอบต. นายกอบจ.นายกเทศมนตรี ฯลฯ ที่เป็นพวกพ้อง เส้นสายของพรรคการเมือง เป็นคนของพรรค เป็นตัวแทนพรรคลงเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ถูกตัดทอนอำนาจในการคัดสรรคนของตนเข้ามาอยู่ในองค์กรเท่ากับตัดเส้นเลือดส่วนปลายของพรรคการเมืองไปส่วนหนึ่ง แต่การที่ส่วนกลางดึงกลไกส่วนนี้ไปจากองค์กรปกครองท้องถิ่น จะทำให้อิทธิพลของพรรคการเมืองในท้องถิ่นลดลงได้แค่ไหน หรือลดลงได้หรือไม่ ? คงจะมองไม่ชัด แม้คนที่ส่วนกลางคัดเลือกไปลงในองค์กรนั้นๆจะเป็นคนของพรรคการเมืองสีเขียว แต่คนที่สูญเสีย คือคนท้องถิ่น ยอมจะมีอิทธิพลต่อคะแนนเสียงมากกว่า ความใกล้ชิดกับชาวบ้าน ความผูกพันฉันท์ญาติพี่น้อง ฉันท์คนถิ่น ย่อมเหนือกว่าคนที่ส่วนกลางจัดไปแทนที่พวกเขา มีการยุบเทศบาลกับอบต.บางแห่งเข้าด้วยกันด้วยเหตุผลว่า เล็กเกินไป แต่เหตุผลจริงๆก็คือ หน่วยงานหรือองค์กรเหล่านี้ เป็นฐานเสียงของพรรคการเมือง เพราะช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน รัฐบาลมาจากพรรคการเมือง ได้มีการตั้งอบต.ในพื้นที่ของตนถี่ยิบเพื่อควบคุมคะแนนเสียงมากกว่าเหตุผลด้านการปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้เชื่อมโยงเป็นสายจากบนลงล่าง จากล่างขึ้นบน ระหว่างตำบลไปจนถึงจังหวัด ฝังรากลึกมานับชั่วอายุคน บางแห่ง ผูกพันกับตัวบุคคลมากกว่าพรรค คนที่ชาวบ้านนิยมชมชอบย้ายไปอยู่พรรคไหน คะแนนเสียงก็ตามไปอยู่กับพรรคนั้น ยกตัวอย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่ครองเสียงภาคใต้นั้น ชาวใต้แม้ติดยึดชื่อพรรค แต่ยังดูที่ตัวบุคคลด้วย สมมุติว่า นายชวน หลีกภัย ไปตั้งพรรคใหม่ชื่อชวนธิปัตย์ พอเลือกตั้ง คนตรังก็จะทิ้งประชาธิปัตย์ ตามไปเลือกพรรคชวนธิปัตย์แทน เป็นต้น คสช.คิดจะถอนรากถอนโคนนักการเมือง พรรคการเมืองเก่าออกจากประชาชน ไม่ว่าจะระดับท้องถิ่นหรือกรุงเทพมหานคร จึงเป็นการยาก เท่าที่ใช้ ม.44 ย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดบ้าง ย้ายคนที่ผูกพันกับพรรคการเมืองในหน่วยงานรัฐบาลบ้าง ยุบหน่วยงานที่รัฐบาลพรรคการเมืองตั้งไว้บ้างฯลฯ คงจะล้างความนิยมชมชอบของประชาชนต่อพรรคการเมืองและนักการเมืองที่พวกเขานิยมชอมชอบไปไม่ได้ เว้นเสียแต่จะย้ายประชาชนแบบล้างตำบล ล้างอำเภอ ล้างจังหวัดออกไปจากประเทศไทยเท่านั้น