สมบัติ ภู่กาญจน์ ในความเห็นของอาจารย์คึกฤทธิ์ พระราชบัญญัติสงฆ์ปี พ.ศ.2484 นั้น “ ถ้าจะว่าไปก็เหมือนเป็นรัฐธรรมนูญของพระ ที่เขียนโดยคนที่รู้จักแต่หลักประชาธิปไตย แต่ไม่เคยบวชเรียนมาก่อน หรือถึงจะเคย ก็น่าจะสนใจต่อพระธรรมวินัยน้อยกว่าสนใจประชาธิปไตย ซึ่งประชาธิปไตยนั้น หลักใหญ่ยึดในเสียงข้างมาก ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า โลกาธิปไตย ซึ่งมิได้ทรงยกย่อง แต่ทรงยกย่องธรรมาธิปไตย คือยึดในสิ่งที่เป็นธรรม ว่าเป็นหลักสำคัญกว่า นอกจากนั้น พระราชบัญญัตินี้ยังมีเจตนารมณ์ที่จะให้พระสงฆ์รวมกันเป็นนิกายเดียว เรียกว่า คณะสงฆ์ไทย ดังมีความปรากฏอยู่ในมาตรา๖๐ ของบทเฉพาะกาล ที่เขียนไว้ว่า “ก่อนที่จะทำสังคายนาพระธรรมวินัยให้ครบถ้วน แต่อย่างช้าต้องไม่เกินแปดปี นับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ห้ามมิให้ออกสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช กฎกระทรวง หรือระเบียบใด ที่จะบังคับให้ต้องเปลี่ยนลัทธิ อันได้นิยมนับถือและปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านานแล้ว” ซึ่งสรุปได้ว่า กฎหมายฉบับนี้ยอมให้มีพระมหานิกาย พระธรรมยุตไปได้อีกแปดปี ในระหว่างนั้นให้พระมหานิกายและพระธรรมยุต มาประชุมทำสังคายนาตกลงกันในเรื่องพระธรรมวินัย ให้เข้ากันได้เป็นนิกายเดียวกัน แต่ถ้าครบแปดปีแล้ว ยังตกลงกันไม่ได้ ก็ให้สังฆสภาออกสังฆาณัติ บังคับให้เปลี่ยนได้ทันที และในสังฆสภานั้น ย่อมประกอบไปด้วยพระมหานิกายมากกว่าพระธรรมยุต เพราะท่านมีจำนวนมากกว่าเป็นธรรมดา และถ้าจะให้สังฆสภาลงมติออกสังฆาณัติให้รวมนิกาย พระมหานิกายซึ่งมีเสียงข้างมาก ก็ย่อมจะลงมติให้เลิกลัทธิของพระธรรมยุตเป็นธรรมดาอีกเหมือนกัน พระธรรมยุตจึงเดือดร้อนมาก เมื่อมีพระราชบัญญัตินี้................ ในข้อเขียนต้นฉบับดั้งเดิม ที่เขียนขึ้นเมื่อหลังปี 2520 อาจารย์คึกฤทธิ์ใส่ ‘ลูกเล่น’ ทั้งความเห็นและเกร็ดที่เกี่ยวกับความคิดและการทำงานของผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาลยุค(ปี 2484)นั้น ไว้อีกหลายเรื่อง ซึ่งเมื่อถึงวันนี้ สาระเหล่านั้นอาจจะพ้นสมัยจากความสนใจของคนในยุคนี้(คือปี 2560)ไปแล้ว ผมจึงขออนุญาตตัดข้ามเรื่องราวเหล่านั้น แล้วนำเรื่องให้เข้ากับเนื้อหาที่จะได้กล่าวถึงกันต่อไป ซึ่งในข้อเขียนชิ้นต่อมา อาจารย์คึกฤทธิ์เดินเรื่องที่ค้างไว้ดังนี้ “ ในระยะนั้น พระธรรมยุตซึ่งเป็นฝ่ายถูกกระทำย่ำยี ได้ตั้งอยู่ในขันติธรรมเป็นอย่างยิ่ง มิได้มีการโต้ตอบ หรือแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายใด ผู้ที่เป็นแรงสำคัญในอาการขันติเหล่านี้ เห็นจะได้แก่ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) ผู้ซึ่งเป็นประมุขสงฆ์ธรรมยุตอยู่ในขณะนั้น สมเด็จพระราชาคณะองค์นี้ ต่อมาได้เป็นพระอุปัชฌาย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลปัจจุบันเมื่อทรงผนวช และต่อมาได้ทรงรับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สกลสังฆปรินายก โดยเหตุที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นศิษย์ใกล้ชิดของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสอย่างหนึ่ง และทรงตั้งอยู่ในธรรมอันทำให้งาม อันได้แก่ขันติและโสรัจจะอีกอย่างหนึ่ง จึงมิได้ทรงถือทิฐิมานะและปราศจากอคตินิกาย จนสามารถชักนำพระธรรมยุตส่วนใหญ่ให้ตั้งอยู่ในขันติธรรมได้ ทั้งที่พระมหาเถระธรรมยุตบางรูปในขณะนั้นมีภยาคตินิกายเป็นอย่างยิ่ง เกรงว่าพระมหานิกายและรัฐบาลในขณะนั้นจะมาล้มนิกายธรรมยุต หรือให้พระมหานิกายมาปกครองพระธรรมยุต ให้ตรงข้ามกับที่เคยมีมา ถ้าจะว่ากันโดยทั่วไปแล้ว พระธรรมยุตทั้งหมดย่อมไม่เห็นด้วยกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ปี 2484 เมื่อไม่เห็นด้วย ก็ย่อมแสดงอาการวางเฉยไม่สนใจต่อพระราชบัญญัติ คงปฏิบัติตามพระธรรมวินัยตามลัทธิของธรรมยุตต่อไป เหมือนกับว่าไม่มีพระราชบัญญัติฉบับนี้ และด้วยเหตุที่ขณะนั้นมีสมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะธรรมยุต ที่มีความสามารถและคุ้นเคยต่องานปกครองของคณะสงฆ์เพราะเป็นฝ่ายปกครองมาก่อน อยู่มาก การวางเฉยของพระธรรมยุตจึงทำให้การปกครองคณะสงฆ์เริ่มจะเนือยลง เหมือนกับต่างฝ่ายต่างปกครองกันเองโดยพระมหานิกายและพระธรรมยุต อย่างไม่เกี่ยวข้องกัน จนกระทั่งเวลาผ่านพ้นมา 7 ปี ก่อนที่จะถึงกำหนดในบทเฉพาะกาล 1 ปี พระเถระผู้ใหญ่ของฝ่ายธรรมยุตจำนวน 22 รูป ก็ได้มีหนังสือทูลสมเด็จพระสังฆราช(แพ) ในขณะนั้น ที่ได้ประทับอยู่ที่วัดสุทัศน์ มีความในหนังสือว่า พระธรรมยุต ไม่สามารถฝืนพระธรรมวินัย ปฏิบัติตามเนื้อหาที่มีอยู่ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ ด้วยเหตุดังต่อไปนี้ 1. พระราชบัญญัติฉบับนี้ขัดแย้งกับพระธรรมวินัย เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อรวมมหานิกายกับธรรมยุติกนิกาย ซึ่งในภาษาพระเรียกว่านานาสังวาส ให้เป็นนิกายเดียวกัน 2. พรบ.ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในข้อเสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งบุคคลย่อมมีสิทธิที่จะนับถือหรือปฏิบัติพิธีธรรมตามความเชื่อถือของตนได้อย่างเสรี 3. พรบ.ฉบับนี้ไม่สามารถบรรลุผลได้ตามที่บัญญัติไว้ตามกฎหมาย เพราะมีข้อความปรากฏอยู่ในหลายมาตราที่ไม่สามารถจะกระทำให้เกิดผลในการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดได้ เช่นในเรื่องการตีความพระธรรมวินัย หรือเรื่องการทำสังคายนา 4. พรบ.ฉบับนี้ไม่เป็นไปตามคลองธรรม ดังที่รัฐบาลมีคำแถลงว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะสงฆ์นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะคณะสงฆ์ธรรมยุตไม่เคยเห็นพ้องกับพระราชบัญญัตินี้ตลอดมา 5. มีความบกพร่องหลายประการในตัวบท 6. ขัดกับวิธีการปกครองสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกครองที่เทียบเคียงจากพระธรรมวินัยและศาสนประเพณีดั้งเดิม ที่ประเทศของเราใช้และยึดถือกันมาช้านาน สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงรับหนังสือนี้แล้วก็ส่งต่อให้นายกรัฐมนตรี พร้อมสำเนาหนังสือถวายต่อประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้นด้วย ทุกอย่างก็เลยเงียบไป นี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวความเป็นมาที่เคยปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์บ้านเมืองไทยเรา เมื่อก่อนปีพุทธศักราช 2500 เรื่องราวเหล่านี้ยังไม่จบ หลังจากความเงียบนี้แล้วอะไรจะเกิดติดตามต่อมาอีก ขอเชิญอ่านต่อสัปดาห์หน้าครับ