ระหว่างที่ “รัฐบาล” กำลังรับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อยู่ในสังเวียนสภาฯ ตลอดสามวัน สามคืนที่ผ่านมา โดยจะมีการโหวตลงมติ “ไว้วางใจ”กันในวันนี้ช่วงค่ำ ซึ่งจะชัดเจนว่า งานนี้ เสียงโหวต ลงมติไว้วางใจ ที่ “พรรคร่วมรัฐบาล” จะออกมาในทิศทางเดียวกันหมดหรือไม่ ตั้งแต่ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม , “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี , “บิ๊กป๊อก”พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย , วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี , ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร จะได้เสียงไว้วางใจเกินครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาฯที่มีอยู่หรือไม่ และเท่าใด โดย ณ วันนี้ เสียงกึ่งหนึ่งของสภาฯ จะต้องอยู่ที่ 245 เสียง แต่วันนี้รัฐบาลมีส.ส.อยู่ในมือกว่า 260 เสียง ! การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก่อนวันปิดประชุมสภาฯในวันที่ 28 ก.พ.นี้ ได้รับความสนใจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองในสภาฯที่เกิดคู่ขนานไปกับบรรยากาศทางการเมือง “นอกสภาฯ” ที่ระอุ คุกรุ่นไปตามสถาบันการศึกษา หลายแห่ง หลายจังหวัด ที่มีนิสิต นักศึกษา พากันจัดกิจกรรมแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.63 ที่ผ่านมาจากคดีพรรคอนาคตใหม่ ตามสถาบันการศึกษาต่างๆทั่วประเทศได้เคลื่อนไหว ทั้งนัดรวมตัว แสดงพลัง ไปจนถึงขึ้นป้าย “หยุดความอยุติธรรม” แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อพุ่งเป้าไปยัง “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” อย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษายังได้รับการขานรับ และจับตาจาก “องค์กร” ต่างประเทศ ยิ่งเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้ต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ของ “พลังบริสุทธิ์” มีแรงกดดัน ไปยังรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ มากขึ้น ว่าจะควบคุมสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่เช่นนี้อย่างไร ? ล่าสุด ไอลอว์ได้ออกมาระบุข้อความผ่านเพจเฟชบุค เพื่อตอกย้ำว่า จะบังคับใช้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ตามมาตรา 3 ระบุว่าการชุมนุมในสถานศึกษาไม่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่มีอำนาจที่จะเข้ามาควบคุมใดๆ หลังจากที่มีรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปวนเวียนและสังเกตุการณ์ภายในสถานศึกษาที่มีการจัดกิจกรรมชุมนุมแสดงพลัง อย่างไรก็ดี การปลุกระดมนิสิตนักศึกษาเพื่อออกมาเคลื่อนไหวในช่วงตลอดหลายวันที่ผ่านมานั้น ย่อมอยู่ในสายตาของรัฐบาลและ “ฝ่ายความมั่นคง” โดยไม่ต้องสงสัย แต่ทั้งนี้มีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะหลีกเลี่ยง การใช้ “ยาแรง” ด้วยการใช้กฎหมายเข้าควบคุมและดำเนินการใดๆ กับนักศึกษา เพราะจะทำให้สถานการณ์เปราะบาง สุ่มเสี่ยงให้เกิดการปะทะกันขึ้นตามมา อีกทั้งจากการประเมิน ทิศทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา จะไม่สามารถพัฒนาไปถึงขั้นการชุมนุมเหมือนกับที่ กลุ่มการเมืองเสื้อสีต่างๆเคยทำมาแล้ว แต่สิ่งที่รัฐบาลจะต้อง “ยืนระยะ” ให้ได้มากที่สุด คือการยอมปล่อยให้การแสดงออกของนักศึกษา ดำเนินไป และยุติลงด้วยตัวเอง รอจนกว่า “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะเผชิญกับ “คดีอาญา” ตามมาติดๆหลังจากนี้ อีกไม่กี่อึดใจ !