ภาพของห้างสรรพสินค้าที่บรรยากาศเงียบเหงา ถูกโพสต์และเพยแพร่ในโลกโซเชียล กลายเป็นดัชนีสำคัญวัดเศรษฐกิจไทยว่าส่งสัญญาณน่าเป็นห่วง
ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เมื่อประชาชนหันมาซื้อขายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ประกอบกับธุรกิจโลจิสติกส์ และบริการจัดส่งถึงบ้านเป็นที่นิยมในขณะที่ผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ “โควิด-19” และปัญหาอาชญากรรมรุนแรงเข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์ ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายและการออกไปใช้จ่ายนอกบ้าน ทำให้บรรดาผู้ประกอบการัดกลยุทธ์ลดราคาออกมากอบกู้สถานการณ์ มีการจัดกิจกรรมพิเศษและโปรโมชันต่างๆ เช่น ซื้อ1 แถม 1 เพื่อจูงใจลูกค้า
ข้อมูลจาก marketeeronline.co ระบุผลสำรวจการซื้อสินค้าออนไลน์ในประเทศไทยพบว่า คนไทยส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 90% มีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านมือถือเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี โดย มูลค่าเฉลี่ยสินค้าต่อการสั่งซื้อผ่านอีคอมเมิร์ช สูงขึ้นจาก 1,300 บาท เป็น 1,700 บาท ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคของเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ตโฟน และเครื่องสำอางค์
ก่อนหน้านี้ มีข้อมูลจาก Facebook IQ หน่วยงานวิจัยของเฟซบุ๊ก ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีอายุมากกว่า 18 ปี จำนวน 1,500ราย พบว่า39% ของผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางแรก ตามมาด้วย30%ที่ซื้อสินค้าจากหน้าร้านค้า
โดยเหตุผลสำคัญที่เลือกซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องมาจาก 55% ให้ความเห็นว่าสะดวกกว่าไปหน้าร้าน ขณะเดียวกัน 44% เริ่มเปลี่ยนช่องทางมาเลือกซื้อของออนไลน์จากมือถือมากขึ้น และในกลุ่มผู้ที่ซื้อของผ่านมือถือกว่า60%เป็นกลุ่มมิลเลนเนียลที่มีช่วงอายุ18-34ปี
ขณะที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้าน สมเด็จเจ้าพระยา เปิดเผยผลการสำรวจเกี่ยวกับการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชัน (Application) ของคนกรุงเทพฯ พบว่าเหตุผลที่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ 22.3% เลือกใช้แอปฯ ในการจัดส่งอาหารหรือเครื่องดื่มเพราะมีโปรโมชั่นลดราคาอาหาร โดยมี 29.2% ที่เลือกใช้แอปฯ ในการจัดส่งอาหารหรือเครื่องดื่ม 3-4 ครั้ง ในหนึ่งเดือน
สำหรับประเภทอาหารและเครื่องดื่มที่สั่งผ่านแอปฯ ที่นิยมสั่งกันมากถึง 37.2% คืออาหารไทย/อาหารอีสาน ตามด้วย อาหารฝรั่ง/ฟาสต์ฟู้ด, กาแฟ/ชานมไข่มุก, อาหารญี่ปุ่น/ซูชิ และสุดท้ายคือของหวาน เค้ก เบเกอรี่ ส่วนการใช้จ่ายต่อครั้งในการเลือกสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านแอปฯ มากสุด 33.8% จ่ายเงิน 101 - 300 บาท/ครั้ง รองลงมาคือจ่าย 301 - 500 บาท /ครั้ง และน้อยกว่า 100 บาท/ครั้ง โดยเลือกการชำระค่าสินค้าด้วยการเก็บเงินปลายทาง/เงินสด มากที่สุด 46.3% รองลงมาคือใช้วิธีโอนเงิน/หักบัญชีธนาคาร ตามด้วยจ่ายผ่านบัตรเครดิต/เดบิต จ่ายด้วย PROMPT PAY (พร้อมเพย์) และ Line Pay
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบจากความผันผวนที่เกิดขึ้น ทำให้มีความกังวลต่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการและภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งจะกระทบต่อแรงงานในภาคธุรกิจดังกล่าว
ความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จึงเป็นที่พึ่งในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ในระยะปานกลางและระยะยาว ธุรกิจจะต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ ที่แม้การมาถึงของเทคโนโลยี 5 จี จะถูกมองว่า มี่ส่วนช่วยส่งเสริมอีคอมเมิร์ช แต่ในทางกลับกันเราเชื่อว่าผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตได้