เป็นไปตามความคาดหมายเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวแสดงพลังมวลชนพร้อมแถลงไม่ยอมรับคำตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด แม้จะปฏิเสธแต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ต้องดำเนินไปตามคำสั่งศาลฯ โดยส.ส.ต้องหาพรรคสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน ส่วนกรรมการบริหารพรรคที่เป็นอดีตส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อทั้ง 11 คนโดยอัตโนมัติ ก็ไม่มีสิทธิเข้าไปนั่งทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ส่งผลในทางคณิตศาสตร์การเมือง ให้ส.ส.ในสภาฯเหลือเพียง 487 เสียง จากเดิม 498 เสียง ทำให้พรรคฝ่ายค้านตอนนี้มีเสียงสนับสนุนอยู่เพียง 235 เสียง น้อยกว่าฝ่ายรัฐบาลที่มี 260 เสียง อยู่ 25 เสียง ยังไม่นับกรณีที่ในอนาตอาจมีบางส่วนย้ายมาอยู่กับพรรคการเมืองขนาดเล็กในขั้วของรัฐบาล จะส่งผลให้ขนาดของพรรคร่วมฝ่ายค้านเล็กลงไปอีก ดังนั้น หากมองในแง่ของฝ่ายรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาเสียงปริ่มน้ำไปได้ แม้จะต้องเผชิญศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะมาถึง ขณะเดียวกัน ต้องเผชิญกับเกมการเมืองนอกสภาฯ และนอกประเทศ เมื่อแกนนำพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์ แปลงร่างเป็น “คณะอนาคตใหม่”ขึ้นมาเพื่อรณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภาในทันที ประกอบกับท่าทีของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และโฆษกของผู้แทนระดับสูงอียูและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ต่างออกแถลงการณ์แสดงความคิดเห็นและความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว ขณะที่เพจเฟซบุ๊กของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยว่า บุตรสาวได้เขียนจดหมายไปยังสหประชาชาติให้มาช่วยเหลือตน ว่าไม่ได้รับการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เพราะพรรคอนาคตใหม่กำลังจะถูกยุบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ตนร้องไห้ มันเป็นเรื่องที่เลวร้าย แล้ววันนี้เราจะอยู่เฉย ๆ ได้อย่างไร ทำให้มีการประเมินทิศทางของสถานการณ์การเมืองไทยออกมาหลังจากนี้เป็นสองแนวทาง หนึ่ง คือเหตุการณ์รุนแรงลุกลามบานปลายซ้ำรอย เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ สอง คือเหตุการณ์ไม่รุนแรงเนื่องจากสังคมไทยมีประสบการณ์จากวิกฤติที่ผ่านมา แน่นอนว่าประเทศไทยผ่านเหตุการณ์วิกฤติทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง จาก 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 และชัตดาวน์กรุงเทพฯ แต่ละครั้งสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยอย่างประเมินค่าไม่ได้ และไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ แต่สถานการณ์ปัจจุบันมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคมอีกครั้ง และสถานการณ์ที่อ่อนไหวเช่นนี้ ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่น ในภาวะการณ์ที่เศรษฐกิจที่สลบเพราะพิษโควิด-19 หากมีสถานการณ์แทรกซ้อนที่เกิดจากปัจจัยทางการเมืองเข้ามาซ้ำเติม ย่อมไม่เป็นผลดี เราจึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการเผยแพร่ข้อมูลที่ยั่วยุ สร้างความเกลียดชัง ฝ่ายที่มีอำนาจรัฐต้องร่วมกันรักษาบรรยากาศ ทำความเข้าใจและประนีประนอมรอมชอมกัน ในขณะที่ฝ่ายการเมืองเองต้องไม่พยายามสร้างเงื่อนไขเพื่อมุ่งเอาชนะในระยะสั้น แต่ประเทศไทยอาจต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในระยะยาว