หลังเหตุปล้นทองกลางห้างสรรพสินค้าที่จ.ลพบุรี เหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าจ.นครราชสีมา ก็มีเหตุเลียนแบบพฤติกรรมข่มขู่ยิงห้างตามมาอีกหลายคดี ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการจับกุมและแจ้งข้อหา กระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ข่มขู่ให้คนอื่นตกใจกลัว ซึ่งมีอัตราโทษสูงจำคุก 5 ปี รวมถึงกฎหมายอื่นๆ
กระทั่งกรณีล่าสุด อดีตสามีบุกยิงอดีตภรรยาพนักงานสถานเสริมความงามภายในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จนเสียชีวิต และทำให้เพื่อนร่วมงานหญิงได้รับบาดเจ็บอีก 1 คน เป็นการกระทำที่อุกอาจและอยู่ในความสนใจของสังคม
การวิเคราะห์ปมเหตุที่มาของการกระทำรุนแรงนั้น มีแรงจูงใจจากสาเหตุใด แตกต่างและมีความซับซ้อนกันออกไปในหลายกรณีย่อมเป็นอีกหนทางในการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว
อย่างไรก็ตาม เหตุล่าสุดน่าสนใจว่าเป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัวโดยข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่าในรอบปี 2561 เกิดข่าวความรุนแรงในครอบครัว สูงถึง 623 ข่าว สูงกว่าปี 2559 ร้อยละ 33.7 ในจำนวนนี้มีปัจจัยกระตุ้นที่เชื่อมโยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 108 ข่าว หรือประมาณร้อยละ 17.3 ทั้งนี้ หากแบ่งตามประเภทข่าว พบว่า อันดับ 1 เป็นข่าวฆ่ากันตาย 384 ข่าว รองลงมา ฆ่าตัวตาย 93 ข่าว การทำร้ายกัน 90 ข่าว ตั้งครรภ์ไม่พร้อม 33 ข่าว และความรุนแรงทางเพศของคนในครอบครัว 23 ข่าว
ในจำนวนนี้ พบว่า ร้อยละ 73.3 เป็นข่าวสามีฆ่าภรรยา ร้อยละ 58.2 ข่าวระหว่างคู่รักฝ่ายชายฆ่าฝ่ายหญิง ส่วนกรณีลูกฆ่าพ่อแม่ พบร้อยละ 46.5 และการฆ่ากันระหว่างญาติ 45.3 ที่น่าเป็นห่วงที่สุด ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 443 คน ซึ่งสูงขึ้นถึง 173 คน เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตในข่าวปี 2559 (270 คน) คิดเป็นร้อยละ 64
ซึ่งน่าสนใจว่าแนวโน้มในปัจจุบันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่นกรณีล่าสุดนี้ ที่ส่วนใหญ่ความรุนแรงในครอบครัว มักจะเกิดที่บ้าน แต่ได้ยกระดับมาสู่พื้นที่สาธารณะ และส่งผลให้มีผู้อื่นได้รับผล
กระทบไปด้วย
กระนั้นจากอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในที่สาธารณะ ทำให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินมาตรการรองรับและป้องกันการก่อเหตุรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สวนสาธารณะ สถานีขนส่งต่างๆ ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการ และประชาชน อุปกรณ์และเทคโนโนโลยีต่างๆที่ทันสมัย ในการดูแลความปลอดภัย
มีการพูดถึงปัญหาการครอบครองอาวุธปืนของไทย ที่เป็นปัญหาหนึ่ง โดยสำนักข่าวต่างประเทศอ้างข้อมูลจากเว็บไซต์Gunpolicy.orgของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ในออสเตรเลีย ระบุว่าในปี 2560 ไทยมีผู้ครอบครองปืนทั้งปืนจดทะเบียนและปืนเถื่อนรวม 10.34 ล้านกระบอก สูงที่สุดเป็นอันดับ 39 ของโลก และสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่แชมป์โลกคือสหรัฐอเมริกา มีผู้ครอบครองปืนทั้งปืนถูกกฎหมายและปืนเถื่อนรวม 310 ล้านกระบอก
โดยจะสังเกตได้ว่า สหรัฐอเมริกาเอง เป็นประเทศหนึ่งที่เกิดปัญหากราดยิงในที่สาธารณะ ซึ่งมาจากหลากหลายสาเหตุด้วยกัน
การทบทวนและหามาตรการการป้องกันการครอบครองอาวุธปืนที่เอาไปใช้ในการกระทำผิดนั้น จำเป็นต้องหาทางควบคุมให้มีความเข้มงวดเด็ดขาด ทั้งระบบการติดตามปืนที่มีทะเบียนอยู่ในระบบ และการเฝ้าระวังกวาดล้างปืนเถื่อน จึงต้องเร่งผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเร่งด่วน