เสือตัวที่ 6
การขยายตัวของแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกผู้คนชายแดนใต้ของไทย เพื่อให้มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เห็นด้วย คล้อยตามแนวคิด นำไปสู่การคอยให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐของขบวนการร้ายแห่งนี้ให้ยังคงทรงพลังอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการถ่ายทอด บ่มเพาะแนวคิดความแปลกแยกให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนที่ขยายตัวขึ้นอย่างเงียบๆ ในสถานศึกษาหลายแห่งในพื้นที่ จชต. ดังนั้น หน่วยงานของรัฐจึงควรตระหนักรู้ว่า ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ มียุทธศาสตร์อย่างไร และรัฐควรจะต่อสู้กับขบวนการร้ายในพื้นที่แห่งนี้ ด้วยกลยุทธ์อะไร เพื่อนำไปสู่การสกัดกั้นการหล่อหลอม บ่มเพาะแนวคิดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของบรรดานักจัดตั้งสมาชิกใหม่ของขบวนการ เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะการหล่อหลอมกลับ ให้คนรุ่นใหม่ นิยมการคิดเชิงบวกเพื่อการคิดอย่างสร้างสรรค์ มากกว่าการถูกชักนำให้คิดลบ และเสพติดความรุนแรงอย่างในปัจจุบัน
แม้การสกัดกั้นแนวทางการบ่มเพาะแนวคิดสุดโต่งของขบวนการร้ายแห่งนี้ จะกระทำได้ยาก เพราะสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษที่เปรียบเสมือนหัวใจของฝ่ายต่อต้านรัฐในการส่งต่อความคิดต่างให้เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายในลักษณะนี้ ด้วยบริบททั่วไปในพื้นที่ ล้วนมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างทั้งทางกายภาพและวิธีคิดกับรัฐอย่างสิ้นเชิง แต่รัฐก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการกสัดกั้นการบ่มเพาะดังกล่าว พร้อมทั้งใช้กระบวนการในการนำความคิดเชิงบวก เข้าไปสู่มโนสำนึกของเด็กรุ่นใหม่ในสถานศึกษาให้จงได้ ด้วยการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการ
โดยรัฐ ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้บริหาร ครูสอนศาสนา และนักเรียนให้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีของขบวนการแบ่งแยกผู้คน นโยบายและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐและชักชวนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา การเสริมสร้างทัศนคติความเป็นมิตร และทัศนคติในการคิดเชิงบวกต่อประชาชนไทยโดยทั่วไป รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้เยาวชนทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา อันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นในนโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐ และปฏิเสธการใช้ความรุนแรง รวมถึงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีมิให้ถูกชักจูงและตกเป็นเครื่องมือของขบวนการร้ายแห่งนี้
โดยมีผลการวิจัยฉบับหนึ่งที่ได้ศึกษาโดยใช้การก่อรูปจากปรากฏการณ์จริง ตามแนวทางของทฤษฎีฐานราก จากปรากฏการณ์นิยม โดยดำเนินการศึกษาวิจัยจากปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้น เป็นการสร้างองค์ความรู้จากฐานราก อันเป็นการสร้างองค์ความรู้จากความคิดเห็นของฐานรากของสถานศึกษาเอง โดยข้อค้นพบ ที่จะนำเสนอเพียงส่วนหนึ่ง พบว่า รัฐควรแสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และดำเนินการ ดังนี้ 1) หน่วยงานภาครัฐ จะต้องมีมาตรการในการสอดแทรกครูสอนศาสนา หรือมีมาตรการในการสอบทานการสอนของครูสอนช่วงศาสนาได้ ตลอดจนการมีเครือข่ายครูและนักเรียนที่เป็นฝ่ายรัฐคอยให้ข้อมูลสิ่งบอกเหตุ หรือมีการแนวคิดการปฏิบัติที่ล่อแหลมต่อการสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นระหว่างเด็กและเยาวชนกับภาครัฐ โดยการจัดระเบียบการเรียนการสอนหลักศาสนาให้เป็นมาตรฐานและเกื้อกูลต่อการอยู่ร่วมกันโดยสันติวิธี
2) สร้างมาตรการในการสร้างคนดีมีทัศนะที่ดีต่อรัฐ เป็นตัวแทนรัฐในการเข้าไปสอนศาสนาในสถานศึกษา จัดให้เป็นโครงการที่เป็นระบบและต่อเนื่อง ในลักษณะพี่สอนน้อง ตลอดจนการสร้างสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาศรัทธา ในรูปแบบเดียวกันกับชุมชนศรัทธา ที่รัฐได้สร้างกลุ่มดาอี ซึ่งเป็นกลุ่มคนมุสลิมฝ่ายรัฐที่แตกฉานในหลักศาสนาขึ้นมา โดยรัฐต้องอำนวยความสะดวกในการดำเนินการของกลุ่มดาอีอย่างมีพลังและมีความต่อเนื่อง ในรูปแบบของการนำคนดีที่ถูกต้องมาทดแทนกลุ่มคนที่พยายามสอดแรกบิดเบือนศาสนาอย่างมีวาระซ่อนเร้น ให้กลุ่มดาอีเข้าไปมีส่วนร่วมสอนศาสนาในสถานศึกษา หอพักของสถานศึกษา ตลอดจนการจัดประชุมสัมมนาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มคนสอนศาสนาในสถานศึกษาและตาดีกา กับกลุ่มดาอี ที่สามารถโต้แย้ง เปิดทัศนะอย่างกว้างขวางระหว่างกันได้ตามหลักการอิสลาม
3) การสลายแนวความคิดและการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องและควบคู่กันไปอย่างสัมพันธ์ประสานสอดคล้องและเกื้อหนุนกันมิได้แยกออกจากกันอย่างชัดเจน โดยการแยกแยะเด็กและเยาวชนที่ยังไม่ได้มีแนวคิดร่วมขบวนการฯ หรือยังไม่ได้รับการบ่มเพาะแนวคิดการก่อความไม่สงบ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มสีขาว แต่ถือว่าเป็นกลุ่มเฝ้าระวัง จะมุ่งเน้นการพูดคุยอบรม สร้างปฏิสัมพันธ์ตามกระบวนการเข้าถึง เพื่อมุ่งทำความเข้าใจ ให้มีทัศนคติที่ดีต่อรัฐ ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในแบบพหุสังคม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันมิให้ถูกชักจูงเข้าสู่ขบวนการฯ สำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มที่ยังลังเล หรือได้รับการบ่มเพาะจากขบวนการฯ บ้างแล้ว หากแต่ยังไม่ตกลงใจร่วมขบวนการฯ ชัดเจน ถือเป็นกลุ่มสีเทาซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง การดำเนินการจะมุ่งเน้นการทำความเข้าใจในหลักศาสนาที่ถูกต้อง และ ให้ได้รับข้อมูลอีกด้านหนึ่งจากภาครัฐหรือตัวแทนจากรัฐ เพื่อป้องกันการถลำลึกเข้าร่วมขบวนการฯ
สำหรับกลุ่มสีดำ ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนมีความเชื่อคล้อยตามการบ่มเพาะจนสนิทใจและเข้าร่วมขบวนการฯ แล้ว การดำเนินการจะเป็นกลุ่มหลักที่ต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษ มุ่งเน้นการพูดคุย มีปฏิสัมพันธ์ทั้งในสถานศึกษาและการนำพาทำกิจกรรมนอกสถานศึกษา เพื่อสร้างโอกาสในการเสริมสร้างความเข้าใจ สร้างความเชื่อมั่นต่อรัฐ และการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม จนถึงขั้นปรับเปลี่ยนทัศนคติ สลายอุดมการณ์สงครามญีฮาดให้เจือจางลง เพื่อให้ยุติความเคลื่อนไหว และออกจากขบวนการในที่สุด ซึ่งหากรัฐ สามารถนำข้อค้นพบที่ได้จากงานวิจัยดังกล่าวข้างต้น ไปใช้เป็นเครื่องมือสำคัญให้หน่วยงานระดับปฏิบัติ นำไปใช้อย่างเป็นกระบวนการแล้ว จะมีความมั่นใจได้ว่า จะเพิ่มโอกาสให้หน่วยงานของรัฐ ในการนำวิธีคิดใหม่ๆ เข้าไปเปิดให้คนรุ่นใหม่ นำไปใช้แสวงหาทางออกของปัญหาด้วยสันติวิธี ด้วยการคิดเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ให้จงได้