แผนกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการเพิ่มวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้หยุดต่อเนื่องกันนาน 9 วัน คือตั้งแต่วันที่ 11-19 เมษายน 2563 นั้น มีอันต้องพับเก็บไป เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติจะไม่ประกาศให้เป็นวันหยุดเพิ่มเติม ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เนื่องจากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวในสถานการณ์ที่ประเทศไทยมีความตึงเครียดจากข่าวอาชญากรรมต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การมีวันหยุดยาวอาจไม่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่แม้จะมีวันหยุดยาวแต่ประชาชนอาจเลือกที่จะไม่เดินทางไปท่องเที่ยวหรือจับจ่ายใช้สอยตามเป้าหมาย ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนามย่อม จนถึงภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่ และผู้มีรายได้น้อย ที่ได้รับอัตราค่าจ้างเป็นรายวัน จึงอาจส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจมากกว่า จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆเข้ามาแทนการประกาศให้หยุดยาวที่อาจเสียมากกว่าได้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะอักเสบเรื้อรังและมีภาวะแทรกซ้อน ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าได้ติดตามปัจจัยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 หลังมีผลบังคับใช้ และการออกมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยในวันที่ 25 มีนาคมที่จะถึงนี้ หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เปิดเผยตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP)ของปี 2562 ขยายตัว 2.4% ต่ำกว่าปี 2561 ที่ขยายตัวได้ 4.1% เป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี ทั้งนี้ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะขยายตัว 1.5-2.5% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2.7-3.7% ในขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2563 อยู่ที่ 2.5%-3.0% โดยยังมองความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.0% ภายใต้เงื่อนไขที่ภาครัฐสามารถนำเม็ดเงินใหม่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ราวแสนล้านบาทในระยะเวลาที่เหลือของปี ทั้งนี้จากรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การสอดประสานระหว่างมาตรการการคลังและการเงินร่วมกัน จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะช่วยพยุงให้ GDP ในปี 2563 โตได้ไม่ต่ำกว่า 2.0% โดยเฉพาะในจังหวะเวลาที่ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 มาตรการการเงินเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างฉับพลัน จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อประคองสถานการณ์ไม่ให้เกิดผลกระทบลุกลามไปยังรายได้และการจ้างงานในภาคครัวเรือนเป็นวงกว้าง ซึ่งภาครัฐก็ได้ทยอยออกมาตรการทางการเงินมาเป็นระยะๆ เพื่อช่วยเหลือให้ธุรกิจมีสภาพคล่องสำหรับดำเนินธุรกิจต่อไปได้ “ในการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจจะต้องอาศัยเม็ดเงินใหม่ๆ เข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งหากต้องการให้ GDP โตได้ 2.0% ในปีนี้ อาจจะต้องมีเม็ดเงินใหม่เข้ามาในระบบราวแสนล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สามารถควบคุมได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้” ดูเหมือนความหวังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทย จะอยู่ที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ จะกระจายเม็ดเงินลงไปสู่ภาคต่างๆ ที่สำคัญคือมีงบประมรณเข้ามาอุดหนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่จะออกมาในอนาคต