ตัวเลขเศรษฐกิจที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศออกมานั้นอาจไม่น่าพอใจสักเท่าไหร่สำหรับรัฐบาล โดยนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการสภาพัฒน์ฯ เปิดเผยแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2563 คาดว่า จะขยายตัวในช่วงระหว่าง 1.5-2.5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 2% ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากครั้งก่อน เมื่อ 18 พฤศจิกายน2562 ที่คาดว่า เศรษฐกิจไทยขยาย 2.7-3.7% ส่วนสาเหตุที่คาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยายตัวได้ในระดับ 2% เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะค่อยๆเริ่มกลับมา
ขณะที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 เติบโตเพียง 2.4% จากเดิมที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจปี 2562 โต 2.6% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี2562 ขยายตัวได้เพียง 1.6% ลดลงจาก 2.6% ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส หรือในรอบ 5 ปี ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 3.3% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3.4%
“เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบหลายประการโดยเฉพาะสงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐฯกับจีน ทำให้ส่งออกของไทยติดลบ 3.6% ภาคการเกษตรติดลบ 1.6% เนื่องจากภัยแล้ง การลงทุนในอุตสาหกรรมติดลบ 2.3% ภาคการก่อสร้างติดลบ 1.9% และการบริโภคภาครัฐติดลบ 0.9% นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้ทั้งปีภาคการส่งออกติดลบถึง 3.2% ส่วนเรื่องท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีทั้งทางด้านรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยว เนื่องจากยังไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19”
ทำให้กระทรวงการคลัง โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมออกชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ทันทีในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบด้วย 3 ด้านคือ การท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุน
“การกระตุ้นการลงทุนจะต้องเป็นชุดใหญ่พอสมควร โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐจะต้องมีเงินลงทุนออกมาทันทีในเดือนเมษายน โดยขณะนี้ได้ประสานกับสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลางและหน่วยงานราชการต่างๆ ให้เตรียมการเรื่องของการเบิกจ่าย รวมทั้งเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างไว้ล่วงหน้า เมื่องบประมาณรายจ่ายประจำปี 25633 สามารถเบิกจ่ายได้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นต้นเดือนเมษายนจะได้มีเงินลงเข้าสู่ระบบในทันที”
เมื่อหันมาดูสถานการณ์ทางการเมือง ฝ่ายค้านหมายมั่นปั้นมือว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางที่จะเกิดขึ้นนี้ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อรัฐบาล ไม่ลาออกก็ปรับคณะรัฐมนตรี
ส่วนความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ในทางเลวร้ายที่สุดหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็คือการปรับคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้เป็นไปเพื่อเรียกความเชื่อมั่น แก้ไขปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล และแก้ไขปัญหาภายในพรรคของตนเองมากกว่าปัจจัยอื่น
กระนั้น เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจยังซึมยาว ปัญหาปากท้องของประชาชนจะเป็นปัจจัยเร่งเร้าให้บรรยากาศตึงเครียด หากรัฐบาลเลือกที่จะประคองสถานการณ์ไปแบบรายวัน อาจจะทำให้เกิดแรงเสียดทานที่รุนแรงขึ้น การเลือกตั้งท้องถิ่น ที่เดิมคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม มีข่าวว่าอาจขยับออกไปเพราะความไม่พร้อมบางประการ หากเป็นไปได้รัฐบาลควรประกาศความชัดเจนในเรื่องนี้ออกมา เพราะเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น นอกจากจะมีรูระบายทางการเมืองแล้ว ยังเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจได้ชะงัดนัก