ณรงค์ ใจหาญ
พัฒนาการของการบริหารกระบวนการยุติธรรมของไทยมีอยู่อย่างต่อเนื่องและปรับเปลี่ยนก้าวหน้าตามการเปลี่ยนแปลงของโลก. แต่ปัญหาที่ประสบยังคงมีอยู่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แม้ว่าจะมีความพยายามในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย ผู้บังคับให้เป็นไปตามกฎหมายหรือแม้กระทั่งผู้ออกกฎหมาย ทั้งนี้เพราะแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางในการพัฒนาหรือมีมุมมองในการก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในกระบวนการยุติธรรมบนจุดที่เป็นปัญหาที่หน่วยงานเผชิญอยู่เป็นหลักโดยไม่ได้ก้าวล่วงไปร่วมแก้ไขข้อขัดข้องอันมีความเกี่ยวพันกับหน่วยงานที่เชื่อมโยงภารกิจเดียวกัน การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจึงดูเหมือนว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาทางปฏิบัติของตนซึ่งเมื่อแก้ไขไปแล้วอาจมีผลกระทบข้างเคียงต่อการทำงานของหน่วยงานอื่นได้ ดังนั้นการปรับปรุงแก้ไขโดยใช้มุมมององค์รวม และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมหาทางออกที่เป็นไปได้อย่างเหมาะสมจึงน่าจะก่อให้เกิดแนวทางการพัฒนาที่เป็นไปได้สำหรับประเทศไทย
ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนควบคู่กับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ปัญหาที่พัฒนาและมีหลักเกณฑ์ชัดเจนคือการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาและสิทธิของจำเลยในระหว่างการสอบสวน พิจารณาพิพากษา และในระหว่างการบังคับคดี. แต่ในทางปฏิบัตินั้น ยังคงมีการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาอยู่ เช่นการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาเยี่ยงผู้กระทำความผิด. หรือการคุ้มครองพยานให้ได้รับความปลอดภัยเช่นนำมาแถลงข่าว หรือ มีการสัมภาษณ์ผู้ต้องหาผ่านทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับสาเหตุและความรู้สึกหลังจากที่ได้กระทำความผิด รวมทั้งนำเสนอพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ผ่านทางสื่อที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยในการต่อสู้คดี และกระทบต่อความปลอดภัยของพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีอิทธิพลและต้องการข่มขู่พยาน เป็นต้น
ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่ควรได้รับการตรวจสอบและเป็นประเด็นที่ทางสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศให้ความสนใจ ได้แก่ การกระทำทรมานหรือบังคับให้รับสารภาพ การควบคุมในสถานที่ควบคุมลับ การบังคับให้บุคคลสูญหาย ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นปัญหาที่ต้องมีความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่จะขจัดปัญหาเหล่านี้และยังคงรักษาความสงบเรียบร้อย รวมถึงความมั่นคงได้ควบคู่กัน ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ผ่ามาประเทศไทยอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนและปฏิรูป แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว หลักประกันสิทธิเสรีภาพและการบังคับให้เป็นไปตามหลักดังกล่าวย่อมจะเป็นสิ่งที่สามารถนำไปปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง มิฉะนั้นก็จะเป็นเพียงบัญญัติไว้ตามตัวอักษร แต่ไม่ได้นำไปใช้จริง
มองในอีกด้านหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม คือการควบคุมอาชญากรรมที่ร้ายแรง เช่น การปราบปรามการก่อการร้าย การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การปรามปรามผู้ค้ายาเสพติด. การปราบปรามองค์กรอาชญากรรม เป็นต้น ข้อท้าทายของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมคือ สามารถเอาตัวผู้กระทำความผิดที่เป็นตัวหลักมาดำเนินคดีได้เพียงใด เพราะการกระทำความผิดเหล่านี้มีลักษณะที่ยากต่อการสืบหา และจับผู้กระทำความผิดมาลงโทษ หรือแม้กระทั่งการพิสูจน์พยานหลักฐานในศาลก็ยากต่อการที่จะนำเสนอให้เห็นว่ามีการกระทำความผิดตามที่ได้ฟ้องจริง ทั้งที่ผู้นั้นได้กระทำความผิดจริงแต่ขาดหลักฐาน. แนวทางการแก้ไขปัญหาจึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพแก่เจ้าหน้าที่ให้มีกลไกที่จะติดตามพยานวัตถุ พยานเอกสาร และได้มาซึ่งพยานบุคคล รวมทั้งพยานทางเทคโนโลยีมาพิสูจน์ในศาล แต่ข้อเป็นห่วงกังวลคือ ความสามารถของเจ้าพนักงาน และเครื่องมือทางกฎหมาย รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้จะทันสมัยเพียงพอต่อการสะกดรอย ติดตามผู้กระทำผิดได้เพียงใด ซึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ทั้งนี้เพราะหากให้เครื่องมือแก่เจ้าพนักงานกว้างขวางไป จะมีผลกระทบต่อประชาชนที่จะต้องเดือดร้อนต่อการเฝ้าระวังมากขึ้น เช่น การตรวจหรือเฝ้าระวังในระบบ social media หรือการยึดทรัพย์ในความผิดมูลฐานในคดีฟอกเงิน หากมีการใช้อำนาจตามที่กฎหมายให้เกินสมควรหรือมีการใช้เพื่อการอย่างอื่นก็จะทำให้มีผู้อื่นที่เดือดร้อนเกินความจำเป็น
การบริหารงานยุติธรรมทางอาญาให้มีประสิทธิภาพจึงมึความยาก โดยเฉพาะการรักษาสมดุลของหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กับการปราบปรามอาชญากรรมร้ายแรง เพราะเจ้าพนักงานและศาลในกระบวนการยุติธรรม จะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาโดยใช้ความละเอียดรอบคอบ ท่ามกลางข้อจำกัดในการรวบรวมพยานหลักฐานและการรับฟังพยานหลักฐานให้ได้ระดับปราศจากข้อสงสัย เพราะหากลงโทษไปผิดพลาด ก็จะเกิดความเสียหายแก่ผู้ที่ตกเป็นจำเลย. แต่ในทางกลับกันหาดไม่ลงโทษผู้ที่กระทำความผิดจริง ความเดือดร้อนย่อมเกิดแก่ประชาชนที่จะถูกกระทำจากอาชญากรต่อไปเพราะกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเอื้อมมือไปไม่ถึง
ท้ายที่สุด แนวทางในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงต้องร่วมมือประสานงานกันทุกภาคส่วน กำหนดแผนร่วมกันและกำหนดอย่างสามารถทำได้ในทางปฏิบัติ และการทำความเข้าใจกับบุคลากรการกำกับดูแลจากผู้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด รวมถึงการเพิ่มศักยภาพของเจ้าหน้าที่ให้มีการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพในการติดตามผู้กระทำความผิด จะเป็นแนวทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการควบคุมปราบปรามอาชญากรรม ในขณะเดียวกันไม่ได้ก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินไป