ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดเหตุต่อเนื่องที่มี “รหัสนัย” น่าสนใจหลายประการ เพราะดูเหมือนจะส่งผลสัมพันธ์กันอย่างมี “นัยสำคัญ” ต่อทิศทาง “ดับปัญหาไฟใต้” เหตุการณ์แรก เป็นการวางระเบิดสถานที่ เสาไฟฟ้า เผายางรถยนต์ก่อกวน ฯลฯ เมื่อค่ำคืนวันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน ต่อเนื่องถึงวันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2560 พร้อมกับการ “ปล่อยข่าวลือ” ว่ามีการเข้าตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งภายหลัง พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีเกิดเหตุคนร้ายก่อกวนด้วยการวางระเบิดแสวงเครื่องและเผายางรถยนต์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ว่า เหตุเกิดเมื่อ 7 เมษายน 2560 เวลาประมาณเที่ยงคืนเศษ กลุ่มคนร้ายได้ทำการก่อกวนด้วยการวางระเบิดเสาไฟฟ้าและเผายางรถยนต์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลารวมทั้งสิ้น 19 อำเภอ มีเสาไฟฟ้าได้รับความเสียหายจำนวน 52 ต้น ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี 6 อำเภอ 18 ต้น จังหวัดยะลา จำนวน 3 อำเภอ 8 ต้น จังหวัดนราธิวาส จำนวน 8 อำเภอ 20 ต้น จังหวัดสงขลา จำนวน 2 อำเภอ 6 ต้น จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4  ได้สั่งการให้หน่วยเฉพาะกิจจังหวัดและหน่วยเฉพาะกิจประจำพื้นที่ เข้าควบคุมพื้นที่ป้องกันไม่ให้พี่น้องประชาชนเข้าในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อพี่น้องประชาชน และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ารวบรวมหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์และติดตามสถานการณ์ด้านการข่าวเพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ “จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามในการก่อกวนสร้างความวุ่นวายในพื้นที่ ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ขอยืนยันว่าไม่มีการเข้าตีฐานปฏิบัติการ ตลอดจนไม่มีการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่และพี่น้องประชาชนตามข่าวที่ได้ออกไป ซึ่งเป็นการแอบอ้างและก่อกวนทำให้เกิดความเข้าใจผิด จึงขอให้ผู้ที่จะให้ข่าวได้ทำการตรวจสอบข่าวสารจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดความตื่นตระหนกต่อไป” พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ ยืนยันถึงข้อเท็จจริง ขณะเดียวกัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ส่งข้อความชี้แจงเหตุการณ์ลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าในจังหวัดชายแดนภาคใต้จนทำให้ไฟฟ้าดับว่า เหตุการณ์เริ่มจากการก่อวินาศกรรมสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่จ่ายไฟจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงหาดใหญ่ 2 ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงปัตตานีทั้ง 2 วงจร แต่จุดนี้ยังไม่ส่งผลกระทบให้ไฟฟ้าดับ เนื่องจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงปัตตานียังสามารถรับกระแสไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงยะลา 1 ได้ แต่ต่อมา เกิดเหตุวินาศกรรมสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่จ่ายไฟจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงยะลา 1 ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงปัตตานีอีก 1 วงจร  ทำให้สายส่งที่จ่ายไฟไปให้สถานีไฟฟ้าแรงสูงปัตตานีขัดข้องทั้ง 3 วงจร จึงไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงปัตตานีได้ตามปกติ ทำให้มีไฟฟ้าดับในพื้นที่ จ.ปัตตานีเกือบทั้งหมด ภายหลังเกิดเหตุการณ์ มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงรูปแบบ วิธีการ และเป้าหมาย การก่อเหตุครั้งนี้ เพราะนับเป็นอีกครั้งหนึ่งของการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ที่สะท้อนถึง “ศักยภาพ” ของผู้ก่อเหตุที่สามารถก่อสถานการณ์แบบที่แทบจะเรียกได้ว่า “สั่งได้” และพยายามมีการถอดรหัสว่าเป้าหมายที่แท้จริงของผู้ลงมือ “ต้องการสื่ออะไร” ถัดจากนั้นเพียงไม่กี่วัน สื่อต่างๆ มีการเผยแพร่แถลงการณ์ที่อ้างว่าต้นทางมาจากฝ่ายสารสนเทศของ “กลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น” ซึ่งแทบไม่ปรากฏว่ามีการสื่อสารกับสังคมมาระยะหนึ่ง โดยมีชื่อต้นตอที่สื่อได้ทำการแปลเป็นภาษาไทยว่า “ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี” ลงวันที่ 10 เมษายน 2560 ระบุข้อความหรือจุดมุ่งหมายสำคัญเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพในปาตานีซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการว่า ควรมีตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจจากทั้งสองฝ่าย และต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ กระบวนการเจรจาไม่ควรออกแบบโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนอกเหนือไปจากคู่เจรจา และควรเป็นความพยายามสร้างความไว้วางใจและความมั่นใจในศักดิ์ศรีของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาสันติภาพด้วย           ทั้งนี้สิ่งที่ถูกเน้นย้ำก็คือ การต่อสู้ของบีอาร์เอ็นเป็นการต่อสู้ของมนุษยชาติและเพื่อสันติภาพ ต่อต้านการกดขี่ทุกรูปแบบ รวมถึงการตั้งอาณานิคม ทั้งหมดเพื่อปกป้องฟื้นฟูสิทธิรวมทั้งอำนาจอธิปไตย ดังนั้นการเรียกร้องและความพยายามใดๆ ในการหาทางแก้ปัญหาที่อาจนำไปสู่การยุติการประหัตประหารเพื่อสร้างสันติภาพ แท้จริงแล้วเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการเจรจาสันติภาพเป็นวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง นอกจากนี้ ความหมายสำคัญที่ถูกสื่อออกมา คือ การที่บีอาร์เอ็นสะท้อนท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่นเดียวกับที่ได้อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ว่า ความพยายามใดๆ ในการหาแนวทางสร้างสันติภาพ ต้องสอดคล้องกับค่านิยมและบรรทัดฐานที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ ดังนั้น หลายแง่มุมที่สามารถนำความสำเร็จมาสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ และเป็นข้อกังวลของบีอาร์เอ็น ประกอบด้วย 1.ทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีความจริงใจ และมีส่วนร่วมของภาคีฝ่ายที่สาม ซึ่งหมายถึงองค์กรหรือชุมชนระหว่างประเทศ ในฐานะพยานและผู้สังเกตการณ์ 2.คนกลางในการเจรจาควรมีความน่าเชื่อถือ และต้องมีหลักปฏิบัติตรงตามมาตรฐานสากล เช่น มีความเป็นธรรม ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น และ 3.กระบวนการเจรจาควรถูกออกแบบให้มีความชัดเจนจากคู่เจรจา ทั้งสองฝ่ายต้องเห็นพ้องร่วมกันก่อนเริ่มต้นการเจรจา           ตอนท้ายของแถลงการณ์ย้ำว่า บีอาร์เอ็นเชื่อว่าหากสันติภาพดำเนินไปตามบรรทัดฐานข้างต้น ย่อมไม่มีเหตุผลว่าทำไมการเจรจาจึงไม่ควรเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งในปาตานี และในการเจรจาสันติภาพใดๆ ต้องได้รับมอบอำนาจอย่างสมบูรณ์จากการเลือกตั้งและประชาชน จากความต่อเนื่องของสถานการณ์ โดยเฉพาะกับท่าทีของบีอาร์เอ็นที่ถูกสื่อสารผ่านแถลงการณ์ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงประเมินจากรูปแบบเอกสารและภาษาที่ใช้เห็นว่าน่าจะเป็น “ของจริง” ก่อแรงกระเพื่อมหรือ “ส่งสัญญาณ” อีกหลายระลอกตามมาต่อ “กระบวนการพูดคุย” ที่ “กลุ่มมารา ปาตานี” มีบทบาทนำอยู่ อย่างไรก็ตาม ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 11 เมษายน ที่ว่า “ไม่ต้องไปขยายความให้เขา เพราะต้องอยู่ในกระบวนการการพูดคุยสันติสุข ไม่ว่าใครก็ตามที่จะมาพูดคุยกับเรา ในเมื่อประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกก็ต้องไปยื่นความประสงค์กันตรงโน้น รัฐบาลไม่สามารถพูดคุยกับผู้ที่มีรายชื่อเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายในดินแดนประเทศไทยได้ ก็ไปหาทางออกกันตรงนั้น และเราก็ไม่ได้เรียกเป็นผู้ก่อการร้ายในประเทศของเรา แม้เขาจะมีกี่ชื่อก็ตาม เราถึงใช้คำว่าพูดคุยสันติสุข ซึ่งกลุ่มพวกนี้เป็นกลุ่มผู้เห็นต่างที่มีส่วนน้อย” ส่งรหัสนัยต่อทิศทางการพูดคุยในระยะยาวต่อไปอย่างชัดเจน