สงกรานต์เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยตระกูลภาษาไทแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย
ตามหลักแล้วเทศกาลสงกรานต์กำหนดตามคัมภีร์สุริยยาตร์ทางโหราศาสตร์ โดยวันแรกของเทศกาลซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ (ย้ายจากราศีมีนไปราศีเมษ) เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก" จากหลักการข้างต้นนี้ ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์เหลื่อมอยู่ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน หรือ 14-16 เมษายน อย่างไรก็ตามปฏิทินไทยในปัจจุบันกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ
สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปี ใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี
ในวันสงกรานต์ มีประเพณีที่นิยมถือปฏิบัติกัน หลายอย่าง ได้แก่ ก่อนวันสงกรานต์ จะนิยมทำความสะอาดบ้านเรือน ชำระล้างสิ่งของเครื่องใช้ให้สะอาดหมดจด เพื่อต้อนรับปีใหม่ด้วยความแจ่มใสเบิกบานและ มีการตระเตรียมข้าวของไว้สำหรับทำบุญ ในวันสงกรานต์ โดยมีพิธีทำบุญตักบาตร ก่อเจดีย์ทราย ปล่อยนกปล่อยปลา บังสุกุลอัฐิของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว การสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำ และการเล่นรื่นเริงประเภทร้องรำ การละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ
พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น Water Festival เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ
เมื่อเศรษฐกิจไทยพัฒนาเป็นทุนนิยม สังคมเปลี่ยนไป มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เข้าสู่เมืองใหญ่ วันสงกรานต์กลายเป็นวัน "กลับบ้าน" ทำให้การจราจรคับคั่งในช่วงวันก่อนสงกรานต์ วันแรกของเทศกาล และวันสุดท้ายของเทศกาล เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคม นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถูกใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งอย่างสร้างสรรค์และอย่างทำลาย
ณ ปัจจุบันนี้การเล่นสกรานต์ก็เปลี่ยนแปลงไปอีกแล้ว นั่นคือเล่นกันทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทั้งเล่นสาดน้ำ ก่อเจดีย์ทราย การรดน้ำขอพร การปล่อยนกปล่อยปลา ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ที่ถูกนำมาอำนวยความสะดวกให้คนในยุคนี้ได้ร่วมกิจกรรมทางคอมพิวเตอร์ ปีนี้ยังไม่มาก แต่ในอนาคตคนรุ่นใหม่จะหลงอยู่ในโลกเสมือนจริงจนละลืมชีวิตจริงที่เป้นรูปธรรม เมื่อถึงสมัยนั้น ความเข้าใจในคุณค่าและเห็นความสำคัญของประเพณีดั้งเดิมนั้นก็อาจจะหายไป