แก้วกานต์ กองโชค เมื่อเร็วๆนี้ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมร่วมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ได้มีการพิจารณาคำสั่ง คสช.เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันการศึกษา ในเรื่องเกี่ยวกับการเลือกอธิการบดี ในอดีตที่ผ่านมา การเลือกอธิการบดีของมหาวิทยาลัยของรัฐมีกฎเกณฑ์จะเลือกใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการที่ยังไม่เกษียณอายุ แต่ว่ากฎระเบียบนี้ขัดกับกฎหมายกลางฉบับหนึ่งคือ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ระบุให้อธิการบดีต้องเป็นข้าราชการเท่านั้น ซึ่งวันดีคืนดีก็มีคนมาฟ้องร้องศาลบุรีรัมย์ ศาลก็ได้ตัดสินว่าไม่อนุญาตให้คนที่ไม่เป็นข้าราชการเป็นอธิการบดีได้ ในวันนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ จึงได้ขอความอนุเคราะห์ คสช.ปลดล็อกกลไกส่วนนี้ คสช.จึงมีคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ไม่เป็นข้าราชการสามารถเป็นอธิการบดีได้ โดยข้อดีของคำสั่งนี้คือ ทางมหาวิทยาลัยจะมีตัวเลือกมากขึ้นในการเลือกผู้บริหาร นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้เป็นผู้เสนอ แต่ คสช.เห็นปัญหาการบริหารงานในสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากที่ผ่านมามีการฟ้องร้องเรื่องการสรรหาอธิการบดีกันมาก เมื่อศาลตัดสินก็จะพิจารณาเป็นรายกรณี ไม่ใช่ใช้ได้กับทุกมหาวิทยาลัย เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีกฎหมายและข้อกำหนดเป็นของตนเอง ดังนั้นคำสั่งที่จะออกมาเพื่อให้การบริหารมหาวิทยาลัยสามารถเดินต่อไปได้ ไม่หยุดชะงัก และไม่ได้ระบุถึงอายุด้วยว่าห้ามหรือไม่ห้ามผู้เกษียณอายุราชการ "ขณะนี้มีหลายมหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างการสรรหาอธิการบดี บ้างก็กำลังเตรียมการสรรหา และบางมหาวิทยาลัยสรรหาแล้ว แต่ก็มีการร้องเรียนและฟ้องศาลกัน เมื่อเกิดกรณีแบบนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะนำรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งก็ไม่สามารถทำได้ ก็มีผลให้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยก็ต้องหยุดชะงักไป" รมว.ศึกษาธิการกล่าว อย่างไรก็ตาม คำสั่ง คสช.ดังกล่าว ได้ถูกท้วงติงจากสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย โดย “รัฐกรณ์ คิดการ” ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) กล่าวว่า รัฐบาลควรแยกมหาวิทยาลัยออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐหรือมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ  และ 2.มหาวิทยาลัยส่วนราชการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ที่ยังไม่ได้ออกนอกระบบราชการ มหาวิทยาลัยประเภทแรกนั้น กฎหมายให้อิสระที่จะออกข้อบังคับการบริหารงานบุคคลทั้งเรื่องการสรรหาอธิการบดีจากผู้ที่เป็นข้าราชการหรือผู้เกษียณอายุราชการก็ได้ รวมถึงให้อิสระในการบริหารงบประมาณ สามารถออกระเบียบว่าด้วยการกำหนดอัตราเงินเดือนและการจ่ายเงินเดือนของมหาวิทยาลัยตัวเองได้ แต่สำหรับมหาวิทยาลัยส่วนราชการที่ยังไม่ออกนอกระบบราชการ กฎหมายไม่ได้เปิดช่อง แต่ต้องเป็นไปตามการบริหารงานบุคคลตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่กำหนดอายุให้เกษียณอยู่ที่ 60 ปี และการบริหารงบประมาณคือการจ่ายเงินเดือนก็ต้องเป็นไปตามระเบียบราชการ คือ ตำแหน่งใด ต้องจ่ายเงินเดือนในอัตราเท่าใด เป็นต้น “ถ้าเกษียณแล้วยังอยากนั่งอธิการบดี ก็ไปเป็นอธิการของมหาวิทยาลัยนอกระบบเหล่านั้นซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ แต่สำหรับมหาวิทยาลัยส่วนราชการที่ยังอยู่ในระบบราชการ ก็ควรต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่กำหนดอายุให้เกษียณอยู่ที่ 60 ปี” ประธานที่ประชุม ทปสท.อธิบาย ที่สำคัญเขายังเห็นว่า การใช้มาตรา 44  จะเปิดช่องให้เกิดการสืบทอดอำนาจและการทุจริตคอรัปชั่น การที่ไม่ต้องการให้คนอื่นมาเป็นอธิการบดีต่อ เพราะกลัวว่าที่ตัวเองทำเรื่องที่ส่อทุจริตไว้ จะถูกขุดคุ้ย ปัญหาวนเวียนอยู่แค่นี้ มาตรา 44 ควรใช้กับปัญหาเดดล็อก อย่างกรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี จนไม่สามารถแก้ไขได้และกฎหมายไม่เปิดช่องให้รัฐมนตรีว่าการศธ.เข้าไปแก้ไขได้ กรณีนี้สมควรใช้มาตรา 44  มาแก้ไข แต่กับกรณีของการแต่งตั้งอธิการบดี กฎหมายไม่มีปัญหา แต่กลับไปสร้างเงื่อนไขให้เป็นปัญหาต่างหากเพื่อจะได้สืบทอดอำนาจได้ นายกรัฐมนตรีไม่ควรเอามาตรา 44 มาแก้ผิดให้เป็นถูก แก้ปัญหาคนส่วนน้อยที่ต้องการสืบทอดอำนาจแล้วทำลายระบบนิติธรรม คุณธรรม ขวัญและกำลังใจของบุคลากรอุดมศึกษาทั้งประเทศ เขายังกล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า “คุณภาพอุดมศึกษา ขึ้นอยู่กับคุณภาพอาจารย์ และคุณภาพอาจารย์ขึ้นอยู่กับความมั่นคงและเสรีภาพของอาจารย์” เป็นโจทย์ให้ คสช.ได้ไตร่ตรอง รวมทั้งคนในมหาวิทยาลัยด้วย !!!