ปัญหาแรกๆของสังคมไทยที่รัฐบาลนายกฯลุงตู่ประกาศ และตั้งใจมาแต่ต้นว่าจะเข้ามาแก้ก็คือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม แม้เรื่องความเหลื่อมล้ำจะมีดำรงอยู่หลายด้าน เริ่มตั้งแต่ตัวต้นเหตุคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อันนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ด้านการเมือง หรืออะไรก็แล้วแต่
แต่เรื่องที่น่าจะเป็นปัญหาใจกลางของปัญหาอื่น และก่อให้เกิด “วิกฤติ” ทางสังคมแฝงเร้นมาอย่างยาวนานก็คือปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านความยุติธรรมในสังคมไทย!
ไม่ว่าคนจนหรือคนรวย คนมีการศึกษาหรือไม่มีการศึกษา นักการเมือง นักเลือกตั้ง หรือชาวบ้านธรรมดา ล้วนรู้อยู่เต็มสำนึกเต็มหัวใจดีว่า ปัญหาการเกี่ยวกับ “กระบวนการยุติธรรม” ในสังคมไทยเป็นอย่างไร จากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของกระบวนการนี้ผ่านมาและเป็นอยู่ในสภาพใด ?
อย่าว่าแต่คนไทยที่จำต้อง “ทนอยู่” ในประเทศเลย คนที่อยู่นอกประเทศอย่างชาว “โอรัง เซียม” หรือคนไทยในประเทศมาเลเซียก็ยังรู้สึกกับเรื่องนี้อย่างรุนแรง ดังที่ได้เล่ากล่าวมาแล้วแต่ตอนต้นเรื่อง และก็คงต้องยอมรับความเป็นจริงด้วยว่า มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องดิ้นรนไปอยู่ต่างแดนเพราะความคับแค้นที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องดังกล่าวนี้
ขั้นตอนของกระบวนการสร้างความยุติธรรมทางสังคมโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในสังคมไทยเปิดช่องและเปิดโอกาสให้กับ “ผู้ปฏิบัติ” ในกระบวนการดังกล่าวก่อ “ความอยุติธรรม” หรือ “ความฉ้อฉล” ขึ้นได้ในแทบจะทุกขั้นตอน !
ใครๆในสังคมไทยล้วนรู้ดีเหมือนกับที่ผู้เรียนวิชาเรขาคณิตต้องรู้ว่าเรื่องราวเหล่านั้นเป็น “สิ่งที่เห็นจริงแล้ว” โดยไม่ต้องหาหรือยกเหตุผลใดอื่นมาพิสูจน์อีก!
สิ่งดังกล่าวนี้เองที่นำมาซึ่งปัญหาใหญ่ที่เรื้อรังของสังคมไทย ตั้งแต่สำนึกการเห็นประโยชน์ส่วนตนและหมู่พวกสำคัญกว่าผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวม(อุปถัมภ์แบบเลว) วัฒนธรรมการคอรัปชั่นที่แพร่ระบาดจากระบบรัฐการจนซึมซ่านสู่องคาพยพทั้งสังคม ปัญหาความไร้วินัยและสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม และที่ใหญ่สุด คือปัญหาความไร้จริยธรรมของคนในสังคม !
เอาแค่เพียงเรื่องเดียว คือเรื่องที่พี่น้องคนไทยในมาเลเซียหรือชาว “โอรัง เซียม” สะท้อนแบบตรงไปตรงมาให้ได้ยินเต็มสองหูไว้ในงานวิจัยบางชิ้นตั้งแต่ปีมะโว้โน่นแล้วที่ว่า “ที่เมืองไทย คนรวยขับรถชนคนตายก็ไม่ติดคุก!” ก็ตอบคำถามได้แล้วว่า เรื่องจริงในทำนอง “สิ่งที่เห็นจริงแล้ว” ในสังคมไทย เกี่ยวกับความ ยุติธรรมในสิ่งที่เรียกว่า “กระบวนการยุติธรรมโดยการบังคับใช้กฎหมาย” นั้น ดำรงมาและดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างไร?
กรณีลูกคน “มหารวย” ที่พะยี้ห้อเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดังระดับโลกที่ขับรถชนคนตาย (เรื่องเมาและขับรถเร็วพ้นคดีไปแล้วเพราะบางใครถ่วงเวลาให้จนหมดอายุความไปแล้ว)นั่นปะไร! กำลังยันอยู่ให้เห็นถึงความอัปลักษณ์พิการของระบบยุติธรรมในสังคมไทยอย่างโจ๋งครึ่มทีเดียว
ถามว่าเมื่อถึงวันนี้ เจ้าหน้าทีตำรวจผู้เกี่ยวข้องกับคดีโดยตรงอย่างนายตำรวจที่กำกับดูแลโรงพักทองหล่อที่นำ “เบ๊ในบ้าน” จะให้มาสวมเป็นคนขับรถชนลูกน้องตำรวจ(ของเขาเอง)จนตายเพื่อรับผิดแทน'คุณหนู'ลูกมหาเศรษฐีนั่นนะ วันนี้ไปอยู่เสียที่ไหนแล้ว รับผิดชอบความน่าอายที่สร้างขึ้นให้ระบบยุติธรรมไทยอย่างไรบ้าง ผู้บังคับบัญชาในแต่ละขั้นตอนของนายตำรวจนายนี้ละ แสดงความรับผิดชอบต่อความน่าละอายในพฤติกรรมของลูกน้องอย่างไรบ้าง? ฯลฯ
เมื่อถกกันถึงเรื่องนี้ ชาวสภากาแฟที่เมืองชายแดนใต้ที่เชียร์นายกฯลุงตู่ของพวกเขาแบบเอาเป็นเอาตายมานานแสนนานแต่ละคนจึงได้แต่ถอนหายใจเฮือกพร้อมๆกัน ขณะที่บางใครในวงเปรยเหมือนรำพึงว่า “เรื่องนี้ถ้านายกฯลุงตู่ไม่ทำอะไรสักอย่าง ก็อย่าไปพูดเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมอื่นๆอีกเลย..อายเขา!”
ขณะที่อีกบางใครเพียงแค่นเสียงขื่นๆอยู่ในลำคอว่า “ปลงสังเวช หวะ!”