“วัฒนธรรม” มี อนิจจะลักษณ์เช่นเดียวกับทุกสรรพสิ่ง วิถีการดำรงชีวิต , การทำมาหากิน , การอยู่รวมกันเป็นสังคม ฯ สร้างวัฒนธรรมขึ้นมา เมื่อวิถีชีวิต , การทำมาหากิน , สังคม เปลี่ยนไป วัฒนธรรมย่อมเปลี่ยนตาม
แล้วเมื่อวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงพัฒนา ก้กลับไปมีผลในการพัฒนาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต , สังคมอีก การเรียกร้องให้ “อนุรักษ์” วัฒนธรรมนั้น เรียกร้องให้รักษาส่วนที่ดีงาม มิใช่ให้ “ฝืนโลก”ยุคนี้ทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์มีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต , การทำมาหากิน , สังคม ซึ่งเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนไทย วัฒนธรรมไทยก็กำลังเปลี่ยนแปลง
ในยุคก่อน เราเห็นตัวอย่าง “การเลือกเฟ้น” ในการรับวัฒนธรรมของบรรพบุรุษไทยมาแล้ว มาถึงยุคนี้ คนไทยจะไม่รู้จักการเลือกเฟ้นเลยเชียวหรือ ?
เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนี้ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยแสดงปาฐกถาสำคัญไว้ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ ๒๕๒๕ เรื่อง “การสืบทอดมรดกวัฒนธรรม” ณ หอประชุมจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (ตีพิมพ์ในหนังสือ “มัณฑนาสถาปัตย์ : คึกฤทธิ์พูด”) เนื้อหาส่วนหนึ่งดังนี้
“... วัฒนธรรมนั้น มันเป็นสิ่งผูกพัน ใกล้ชิดกับอารยะธรรม วามเจริญในทางจิตใจและในทางวัตถุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางวัตถุ ในเรื่องการทำมาหากินต่าง ๆ คือคนเราเมื่อมีอารยะธรรม มีความเจริญ แล้วก็เปลี่ยนสภาพจากป่ามาอยู่เมือง มีความเป็นอยู่ มีชีวิตจิตใจ มีการทำมาหากินที่สะดวกสบายขึ้น ปราศจากภัยอันตรายทั้งปวง เมื่อมีความมั่นคงในชีวิตอันเนื่องมาจากอารยะธรรมแล้ว วัฒนธรรมก็ยอมเกิดเพราะมนุษย์มีเวลาที่จะพิจารณา ที่จะมอง ที่จะเลือกเฟ้นและตัดสินว่า สิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว สิ่งใดสวยงาม สิ่ใดน่าเกลียด สิ่งใดเป็นควรประพฤติ และสิ่งใดควรเว้น การตัดสินใจและการเลือกเฟ้นนี้ คือวัฒนธรรม ผลที่เกิดจากวัฒนธรรม และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้องตัดสินใจแน่วแน่ แล้วก็ปลูกฝังเอาไว้ คือถือเป็นประเพณี ขนบธรรมเนียมหรือระเบียบแบบแผน หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ทำให้สิ่งนั้นยั่งยืนถาวร แล้วก็งอกเงยต่อไป ทั้งนี้ เพราะวัฒนธรรมนั้น มันไม่ใช่ของแห้ง ไม่ใช่ตึกรามบ้านช่อง มันเป็นสิ่งมีชีวิต เมื่อปลูกฝังลงแล้วก็ย่อมจะต้องเติบโต มีความเจริญเติบโต และเมื่อเติบโตแล้ว ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับของอื่น ๆ ในการเจริญเติบโตนี้ก็ย่อมต้องอาศัยกาลเวลา กาลสมัย ดินฟ้าอากาศ ตลอดจนอาการทางเศรษฐกิจ การเงิน อื่น ๆ ที่จะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ก็เหมือนกับต้นไม้ ถ้าหากว่าสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งที่คอยหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมก็ต้องเปลี่ยนด้วย หรือสิ่งที่เคยหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมหมดสิ้นไป วัฒนธรรมนั้นก็อยู่ไม่ได้ มันก็ต้องสูญหายไป อย่างนี้เป็นของธรรมดาที่สุดที่เราจะต้องเข้าใจกันไว้ก่อน
ในการสืบทอดวัฒนธรรมนั้น ผมอยากจะให้เข้าใจว่า ไม่ใช่เป็นการสืบทอดมรดก พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย มีอยู่เท่าไหร่ก็สืบกันไปอย่างนั้น อย่าให้สูญให้หาย มันเป็นไปไม่ได้ ทำอย่างนั้นเป็นการเก็บของเข้าพิพิธภัณฑ์ เอาของเก่ารักษาไว้อย่าให้มันเปลี่ยน หรือเป็นการประกาศว่า ทุกอย่างเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ ใครจะไปแตะต้องเปลี่ยนแปลงไม่ได้ นั่นเป็นเรื่องของโบราณคดี มันไม่ใช่วัฒนธรรม
ถ้าเราจะสืบทอดวัฒนธรรม จะรักษาวัฒนธรรมไว้ เราต้องยอมรับเองว่า วัฒนธรรมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีความเจริญเติบโต ต้องมีการแตกกิ่งก้านสาขาเสมอไป จะให้คงที่ไม่ได้”