แสงไทย เค้าภูไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระยะนี้รักษาเนื้อรักษาตัวเป็นพิเศษมิให้แปดเปื้อนสิ่งบั่นทอนภาพลักษณ์และผลงาน ดูราวกับเตรียมความพร้อมเพื่อกลับมาเป็นผู้นำชาติอีกครั้งหลังเลือกตั้งในปีหน้า เหตุรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปิดทางให้คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีได้ กรณีเกิดสุญญากาศสรรหานายกฯจากพรรคการเมืองไม่ได้จึงไม่แปลกอันใดที่คำสั่ง ม.44 หรือมาตรการใดๆที่รัฐบาลและคสช.ผลิตออกมา จะได้รับการดูแลกลั่นกรองกันอย่างละเอียดและพร้อมปรับเปลี่ยนทันทีทันใดหากเกิดผลกระทบแ่ง่ลบต่อประชาชน โรงไฟฟ้าถ่านหิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ห้ามนั่งกระบะท้าย/แคปรถปิกอัพ อุบัติเหตุรักษาฟรี เบี้ยคนจน ฯลฯ กลายเป็นประชานิยมไปหมด อะไรที่ประชาชนไม่นิยม หรือต่อต้าน ล้วนถูกถอนหรือถอยหรือยกเลิกยังจะมีมาตรการของรัฐบาลที่มีลักษณะประชานิยมเข้าคิวรอออกมาสู่สาธารณชนอีกมาก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและปากท้องชาวบ้าน ความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ทำให้พลเอกประยุทธ์ หัวหน้าคสช.สามารถใช้อำนาจได้โดยไม่ผ่านรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรี ช่วงเข้ามาใหม่ๆ ใครก็เรียกร้องให้ คสช.ให้ทำในสิ่งที่ “รัฐบาลเลือกตั้งทำไม่ได้” หรือเช่นเวนคืนคลอง ย้ายชุมชนที่รุกล้ำคูคลองกีดขวางทางระบายน้ำ เป็นต้น แรกๆก็ทำแข็งขันดี แต่ตอนนี้ชักอ้อยสร้อย เพราะบรรดาผู้อยู่อาศัยชุมชนลักษณะนี้ ล้วนมีชื่อในทะเบียนบ้าน และเป็นคะแนนเสียงจัดตั้งของพรรคการเมือง ที่ครองเสียงเมืองหลวง ตรงกันข้ามความพยายามที่จะ ยุบอบต.และหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ถูกมองว่าที่เป็นการสลายฐานเสียงของพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยยิ่งกว่านั้น แกนนำพรรคเพื่อไทยังถูกเด็ดหัวด้วยกระบวนการตุลาการภิวัฒน์กันเกือบหมด ด้วยชะนักติดหลังมาแต่ตอนเป็นรัฐบาลเมื่อหมดตัวแกนนำแถวหน้า แถวที่สองก็ย่อมจะมาแทนที่ บทเรียนที่ได้รับ อาจทำให้แกนนำแถวที่ 2 หรืออาจถึงแถวที่ 3 แข็งแกร่งเกินประเมิน คสช.วันนี้อาจจะใช้หลักคิดสืบทอดอำนาจเช่นเดียวกันกับพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ หัวหน้าคณะรัฐประหารซ้อนปี 2520 อยู่ก็ได้ หากแต่ต่างกันที่รูปแบบ พลเอกเกรียงศักดิ์ลงสนามเลือกตั้ง ทุ่มเทสรรพกำลังเงินต่อสู้กับพรรคกิจสังคมจนเกิด “โรคร้อยเอ็ด” ถางทางขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีตามระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก่อนลงสนามเลือกตั้ง ก็คิดแบบคนที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ กุมอำนาจที่สามารถดลบันดาลอะไรก็ได้ แต่ในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและบริหารประเทศ ผ่านการเลือกตั้งตัวแทนของพวกตน หาเป็นเช่นนั้นไม่ ประชาชนเป็นเจ้าของเสียง เป็นผู้มีอำนาจต่อรองสูงสุด ผู้ที่ไม่เคยลงสนามเลือกตั้งไม่รู้ดอกว่า กว่าจะได้มาแต่ละเสียงนั้น ยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด แม้โรคร้อยเอ็ดจะให้บทเรียนว่า อำนาจรัฐกับอำนาจเงินช่วยให้ชนะเลือกตั้งได้ แต่วันหน้าที่จะมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ประชาชนเลือกเข้ามาเป็นตัวแทนของพวกเขา หากแต่เป็นใครก็ได้ที่พรรคการเมืองจะพรรคเดียวหรือหลายพรรค รวมกันเป็นเสียงข้างมากเลือกขึ้นมาอ้างว่าเพื่อปลดล็อคการเมืองที่เกิดวิกฤตการณ์จนถึงทางตัน การเลือกตั้งครั้งใหม่ หากเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคสช.ที่ออกแบบกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ทำให้ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากในจำนวน 376 เสียงแล้ว คสช.จะต้องกำหนดบทบาทตนเอง ให้สอดคล้องกับกฎหมายลูก ทั้งกฎหมายพรรคการเมือง ทั้งกฎหมายเลือกตั้งอันจะยังผลให้คสช.เป็นตัวกลางที่สามารถกำหนดว่าพรรคใดจะได้เป็นรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ก็จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หรืออีกทางหนึ่ง อาจตั้งพรรคทหารขึ้นมาเหมือนปี 2521 หรือ 2534 หรือทำตัวเป็นคนรักษากติกาเมื่อพรรคใหญ่ 2 พรรคที่คาดว่าจะได้เสียงรวมกันเกินกึ่ง แต่ในฐานะคู่ขัดแย้ง คงเป็นไปไม่ได้ที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ถึงตรงนี้คสช.ก็จะมาเป็นคนกลางโดยดึงพรรคใดพรรคหนึ่งเข้ามาเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคต่ำร้อย ต่ำสิบที่เหลือทั้งหมดตาอยู่ก็จะเข้าไปเป็นนายกฯเสียเอง นี่เองที่เป็นแรงจูงใจให้พลเอกปะยุทธ์ ต้องรักษาเนื้อ รักษาตัวให้สะอาดหมดจด ไม่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งกับใคร ไม่มีภาพลักษณ์เชิงลบในสายตาประชาชน สร้างศรัทธาผ่านมาตรการรัฐที่ยังประโยชน์แก่ประชาชน สร้างประชานิยมแฝง ซึ่งการที่ต้องแฝงก็เพราะได้ประณามประชานิยมยุคทักษิณเอาไว้มาก ลอยเด่นเหนือนักการเมืองทั้งปวง ทำให้คล้ายกับยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ได้รับเชิญจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งชนะเลือกตั้ง มาเป็นนายกรัฐมนตรี เหตุจากหัวหน้าพรรคชวน หลีกภัย คิดว่าตนมีบารมีไม่สูงพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ บารมีพลเอกเปรมมากล้น ถึงขั้นทอดตาทั้งแผ่นดินไม่มีใครเหมาะสมจะเป็นนายกฯแทนที่ได้จนเมื่อมวยซุ่มพลเอกชาติชาย ชุนหะวัณ นำพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2531 นั่นแหละหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคจึงเกิดสำนึกได้ว่า พวกเขาทุกคนแม้เป็นพลเรือน แต่ก็สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ก็ยังมีบรรดาเสนานิยมและอำนาจนิยมอีกมากที่ซุ่มเงียบคอยหาจังหวะยึดอำนาจ อ้างว่าเพื่อขจัดความขัดแย้งจึงเกิดกงกำ กงเกวียนเวียนสลับแกนรัฐบาลเลือกตั้ง-รัฐบาลรัฐประหาร กันเรื่อยมา ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 13 ยังจะมีอีกไหม ? จะเอาอะไรมาเป็นสาเหตุ ?