ในสังคมยุคปัจจุบันที่มีความซับซ้อน เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาท มีผลต่อชีวิตประจำวัน และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ การเข้าถึงสังคมออนไลน์เพื่อพบเจอผู้คนได้ง่ายขึ้น หากแต่กลับไม่เติมเต็มความรู้สึก หลายคนมีเพื่อนมากมายในเฟจเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม แต่ก็ยังรู้สึกเหงาและป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จากหลายปัจจัย ที่ละเอียดอ่อนแตกต่างกันไป
ภายหลังเหตุกราดยิงกลางเมืองจ.นครราชสีมา ได้มีเหตุการณ์ที่มีผู้เลียนแบบพฤติกรรมในลักษณะการข่มขู่ผ่านโซเชียลมีเดียว่าจะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน จนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและดำเนินคีหลายคน หากแต่ใครจะรู้ว่ายังมีผู้คนที่ไม่ได้แสดงออกด้วยการข่มขู่ หากยังเก็บซ่อนบาดแผลเอาไว้
ระเบิดเวลาในจิตใจคนเหล่านั้นจะถูกจุดชนวนขึ้นมาเมื่อไหร่!?
มีข้อมูลที่น่าสนใจ เป็นผลสำรวจของบริษัทประกัน เรื่อง “คะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360ประจำปี 2019" หรือ "2019 Cigna 360 Well-Being Survey" ของซิกน่า ประกันภัย พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศมีความเครียดสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก จากทั้ง 23 ประเทศที่ทำการสำรวจในครั้งนี้ และ 91 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าตนเองมีความเครียด โดยค่าเฉลี่ยสูงกว่าทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 84 เปอร์เซ็นต์
ผลสำรวจระบุว่า คนไทยจำนวนกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถหาคำตอบให้ตัวเองได้ว่าความเครียดที่กำลังเผชิญเกิดขึ้นมาจากสาเหตุใด ส่งผลให้ไม่สามารถจัดการกับความเครียดเหล่านั้นได้
ขณะที่คนไทยวัยทำงานกว่า 81 เปอร์เซ็นต์ มีความเครียดเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพราะอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานที่ต้องตื่นตัวตลอดเวลา ซึ่งความเครียดในสถานที่ทำงานจะส่งผลเชิงลบต่อประสิทธิภาพการทำงาน และนำไปสู่บรรยากาศการทำงานที่น่าหดหู่มากขึ้น อีกทั้ง ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลต่อสุขภาพเกิดการเจ็บป่วยได้มากขึ้น โดยพบว่าในกลุ่มคนที่มีความเครียด มีสัดส่วนป่วยเป็นโรคหัวใจสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับคนทั่วไปที่ไม่ได้เผชิญกับภาวะความเครียด ซึ่งมีโอกาสป่วยเป็นโรคหัวใจ 9 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม กลุ่มพนักงานออฟฟิศ กำลังเผชิญปัญหาในการทำงาน เรียกว่า "Presenteeism" หรือการมาทำงานแม้จะเจ็บป่วย ทั้งๆ ที่สภาพร่างกายและจิตใจไม่พร้อม เนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่น ความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของงาน (Job security) จำนวนงานที่มากเกินไป (Overloaded work) วัฒนธรรมองค์กร (Work culture) ที่อาจกดดันให้พนักงานต้องแสดงความทุ่มเท หรือแม้แต่การไม่ยอมรับความจริงของตัวพนักงานเอง (Denial) ที่ทำให้ฝืนร่างกายตนเองเข้ามาทำงาน
โดยคนไทยช่วงอายุระหว่าง 35-49 ปี หรือที่เรียกว่า "กลุ่มแซนด์วิชเจเนอเรชั่น" ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภาระหน้าที่ต่างๆ กว่าช่วงวัยอื่นๆ ต้องรับมือกับปัญหาในชีวิตทุกๆ ด้าน กำลังเผชิญกับความสุ่มเสี่ยงปัญหาด้านสุขภาพในวิถีชีวิต ประจำวัน
ที่สำคัญยังพบว่า คนไทย 91 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่ามีความเครียด แต่มีเพียง 13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เข้าพบ นักจิตวิทยา หรือ จิตแพทย์ เพื่อปรึกษาปัญหาความเครียดของตนเอง
จากผลการสำรวจดังกล่าว เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องต้องนำไปพิจารณาหาบูรณาการการแก้ไขปัญหาเพื่อให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความเครียด และหาทางแนวทางบำบัดอย่างถูกวิธี เข้าถึงระบบการทดสอบความเครียดได้ง่าย ทั่วถึงและเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ง่ายขึ้น โดยต้องลดมายาคติเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพจิตให้ และทัศนคติของสังคมที่มีต่อคนที่เข้ารับการตรวจและรักษา ให้เป็นเหมือนการตรวจสุขภาพทั่วไป