สมบัติ ภู่กาญจน์ “ การที่พระธรรมยุตได้รับพรพิเศษให้ปกครองกันเอง โดยพระมหานิกายยังต้องอยู่ภายใต้การปกครองของฆราวาสนั้น ย่อมจะทำให้พระมหานิกายเกิดความรู้สึกบางประการมาตั้งแต่แรกเริ่ม นั่นก็คือ ความรู้สึกที่ว่า ฆราวาสผู้เป็นหีนชาติ คือชาติที่ต่ำกว่า ไม่ควรจะมีอำนาจบังคับบัญชาสงฆ์ ผู้ซึ่งอยู่ในสมณเพศ หรือเพศที่สูงกว่า ความรู้สึกนี้อาจจะมีมากกว่าความรู้สึกริษยาพระธรรมยุตที่มีสิทธิเหนือกว่า ด้วยความรู้สึกประการแรก พระมหานิกายจึงทูลขอให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯถวายพระพรต่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ขอให้พระมหานิกายหลุดพ้นจากอำนาจของสังฆการี มาอยู่ภายใต้การปกครองของพระธรรมยุตแทน พระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดฯให้เป็นไปตามคำขอ และตั้งแต่นั้นมา ฆราวาสจึงหมดอำนาจในการปกครองพระ มาเป็นพระธรรมยุตซึ่งมีจำนวนน้อย มีอำนาจในการปกครองพระมหานิกายซึ่งมีจำนวนมากกว่า ในสมัยต่อจากนั้น ก็ได้มีการออกพระราชบัญญัติปกครองสงฆ์ขึ้นใช้แทนกฎหมายการปกครองสงฆ์แบบเก่าๆที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งตามพระราชบัญญัติที่ออกใหม่นี้ มีการตั้งตำแหน่ง ‘สกลสังฆปรินายก’ ขึ้นเป็นประมุขปกครองสงฆ์ และตั้ง ‘มหาเถรสมาคม’ ขึ้นทำหน้าที่บริหารงานสงฆ์ใช้อำนาจในการปกครองสงฆ์โดยนิตินัย โดยในมหาเถรสมาคมนั้น ก็มีทั้งพระธรรมยุตและพระมหานิกายทำงานอยู่ร่วมกัน แต่ในข้อเท็จจริงก็จะมีพระมหานิกายร่วมอยู่ในหน่วยงานนี้น้อยกว่าพระธรรมยุตมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปกครองระดับเจ้าคณะภาคเจ้าคณะจังหวัด หรือในงานของพระวินัยธรอันมีหน้าที่ชำระอธิกรณ์พระ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นพระธรรมยุตทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณากันในข้อเท็จจริงเหล่านี้ ตลอดสมัยรัชกาลที่๖ ต่อรัชกาลที่๗ พระมหานิกายก็ยังคงอยู่ในการปกครองของพระธรรมยุตเรื่อยมา จนกระทั่งบ้านเมืองมาถึงยุคประชาธิปไตยในปีพ.ศ.๒๔๗๕ ความรู้สึกในเรื่องสิทธิและความเสมอภาค เกิดมีขึ้น พระมหานิกายก็เริ่มเพิ่มพูนความรู้สึกว่า ท่านไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะท่านมีจำนวนมากกว่า แต่กลับต้องมาอยู่ภายใต้การปกครองของพระธรรมยุตซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า เมื่อความรู้สึกนี้เกิด ความทุกข์คือความเดือดร้อนก็ตามมา เมื่อเกิดความเดือดร้อน การดิ้นรนขวนขวายก็บังเกิดขึ้นอีก ท่ามกลางความไม่สงบทางอารมณ์และจิตใจเช่นนี้ ความรู้สึกที่เรียกว่า ‘อคตินิกาย’ จึงอุบัติขึ้นมา คำว่า อคตินิกาย นั้น ถ้าจะแปลกันตรงๆก็แปลว่า มีอคติในเรื่องของนิกาย กล่าวคือ เริ่มด้วย‘ฉันทาคติ’ คือรักในนิกายของตน ยึดเอาถือเอาว่านิกายของตนนั้นดีเลิศประเสริฐล้นยิ่งกว่านิกายอื่น จากนั้นก็ตามมาด้วย ‘โทสาคติ’ คือเกิดความเกลียดความโกรธในนิกายอื่นในความแตกต่างที่ตนเห็นว่าไม่ดี มีแต่ความผิดพลาดฯลฯ จนมาสู่ ‘โมหาคติ’ คือลุ่มหลงเข้าใจผิดว่านั่นใช่หรือไม่ใช่ในสิ่งที่เรียกว่านิกาย จนในที่สุด อคติก็นำไปได้ถึง ‘ภยาคติ’ คือกลัวว่านิกายอื่นจะมาทำร้ายหรือทำลายนิกายของตน ไหนๆจะพูดแล้ว ก็ขอเล่าเรื่องเก่าอีกเรื่องหนึ่งที่เคยได้ฟังจากผู้ใหญ่บอกเล่าให้ฟังมา ท่านเล่าว่าในสมัยหนึ่ง พระธรรมยุตเอง บางกลุ่มก็มีอคตินิกายสูงมาก มองถึงขนาดว่าพระมหานิกายนั้นไม่ใช่พระ เพราะเป็นได้แค่อนุปสัมบัน คือระดับเณร ไม่ถึงขั้นพระ ความเห็นนี้ล่วงรู้ไปถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ท่านทรงกริ้วมาก ถึงขั้นมีพระนิพนธ์ตอบโต้ความเห็นนี้ว่า ไม่ถูกต้องแน่นอน โดยอธิบายด้วยหลักธรรมสารพัดแล้วสรุปว่า ตั้งแต่แรกเริ่ม พระธรรมยุตเองก็ได้รับอุปสมบทโดยพระมหานิกาย ถ้าหากว่าพระธรรมยุตองค์ใดไม่เชื่อว่าพระมหานิกายเป็นพระแล้ว พระธรรมยุตองค์นั้นเอง ก็ย่อมไม่ใช่พระเหมือนกัน” อาจารย์คึกฤทธิ์จบข้อเขียนตอนที่ 5 ไว้ด้วยข้อความนี้ ก่อนที่จะต่อตอนที่ 6 ในข้อเขียนวันต่อมา การเล่าเรื่องหรือเขียนเรื่องให้คนอ่าน ด้วยสีสันเหล่านี้ คือสไตล์การให้ความรู้แบบอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่ทุกวันนี้ค่อนข้างจะหาอ่านได้ยากเต็มทีในงานเขียนของท่านผู้รู้ทั้งหลายทั้งปวงที่นำเสนอกันอยู่ในปัจจุบัน ท่านผู้อ่านจะเห็นด้วยกับผมหรือไม่ว่า ‘การสร้างการเรียนรู้’แบบมีสีสรรเช่นนี้ จะชวนให้การติดตามอ่าน,หรือการอ่านแล้วจดจำ,หรืออ่านแล้วเกิดความเข้าใจได้มากขึ้น ยิ่งกว่า การส่งหรือเผยแพร่ข้อมูลด้วยอารมณ์ดิจิตัลของโลกในยุคปัจจุบัน.... ขอประทานโทษที่ต้องเบรคการอ่านนิดนึงเพื่อแทรกข้อคิดนี้ ก่อนที่จะขึ้นบทใหม่ ซึ่งอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าความเป็นมา ต่อไปว่า “ มาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2484 ก็เกิดมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับ กฎหมายฉบับนี้บัญญัติให้มีการปกครองสงฆ์ โดยอนุโลมตามหลักการของทฤษฎีประชาธิปไตย คือมี สมเด็จพระสังฆราช เป็น สกลสังฆปรินายก มีนายกรัฐมนตรีพระ เรียกว่า สังฆนายก มีรัฐมนตรีพระ เรียกว่า สังฆมนตรี มีกระทรวงพระ เรียกว่า องค์การ มีสภาพระ เรียกว่า สังฆสภา มีกฎหมายพระ เรียกว่า สังฆาณัติ มีศาลพระ เรียกว่า คณะวินัยธร ด้วยการเปลี่ยนแปลงนี้ สำนวนไทยที่เคยพูดกันว่า ‘ยศช้าง ขุนนางพระ’ ก็เป็นอันหมดสิ้นไป เกิดเป็นของใหม่ ที่น่าจะเรียกว่าเป็น ‘สภาผ้าเหลือง และนักการเมืองพระ’ ขึ้นมาแทน” ( เรื่องราวจะเข้มข้น หรือเผ็ดมันกันอย่างไรต่อไป อดใจไว้ติดตามต่อสัปดาห์หน้าครับ )