ย้อนหลังกลับไปในห้วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยผ่านเหตุการณ์เลวร้าย ทั้งภัยพิบัติ สงครามการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ และอาชญากรรมรุนแรง จนเรียกได้ว่าสะบักสะบอมทีเดียว
สิ่งหนึ่งที่เข้ามามีอิทธิพลสำคัญในโลกยุคปัจจุบัน คือการสื่อสารในสังคมออนไลน์ ที่เป็นดาบสองคม มีทั้งสร้างสรรค์ และทำลาย
จากเหตุการณ์คนร้ายก่อเหตุกราดยิงกลางเมืองจ.นครราชสีมา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก
ในโลกสังคมอนไลน์ มีการแสดงความคิดเห็นหลากหลาย มีการยกย่องฝ่ายหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็เหยียบอีกฝ่ายหนึ่ง
เหมือนในละคร ที่เมื่อมี “พระเอก”แล้ว จะต้องมี “ผู้ร้าย” ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ในสถานการณ์หนึ่งๆ สามารถมีพระเอกได้หลายคน และเหนือไปกว่านั้น ยังมีผู้กำกับ และนักแสดงสมทบอีกจำนวนมากที่ไม่ถูกกล่าวถึง
หากแต่ในภาวะที่สังคมไทย มีความขัดแย้งเปราะบางอยู่นั้น เมื่อมีประเด็นที่มองเห็นบาดแผลของบางฝ่าย จึงเกิดภาวะเข้าร่วม “ประชาทัณฑ์” เรียกว่า อาศัยช่วงชุลมุน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงชุลมุนนั้น ก็มีเสียงเตือนสติจาก พระเมธีวชิโรดม หรือ ว.วชิรเมธี โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กชื่อ พระเมธีวชิโรดม -ว.วชิรเมธี ระบุว่า “...เวลานี้ สิ่งที่สังคมไทยต้องการมากที่สุด คือ ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์
ไม่ใช่การฉกฉวยโอกาสกล่าวโทษ และสร้างความเกลียดชังให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งสิ้น บ้านเมืองของเรามีความเกลียดชังหมักหมมตกทอดมามากเกินพอแล้ว
เราต้องร่วมกันนำพาบ้านเมือง ก้าวข้ามไปยังฝั่งตรงกันข้ามของความเกลียดชัง และความรุนแรง
นั่นคือ ความอดทนอดกลั้น ความมีสติ ความเมตตาอาทร การสื่อสารกันด้วยปิยวาจา และความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน”
และ ณ บรรทัดนี้ ขออันเชิญพระคติธรรมของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในวันมาฆบูชา วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ตอนหนึ่งมาเผยแพร่ระบุว่า
“ดิถีมาฆบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ดิถีเช่นนี้ชวนให้พุทธบริษัททุกหมู่เหล่า ได้น้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ในดิถีเพ็ญเดือน 3 ภายหลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 9 เดือน ขณะประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร พระองค์ได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประทานแก่พระสาวก 1,250 รูป
สารัตถะแห่งโอวาทปาติโมกข์นั้น นอกจากเป็นการประทานหัวใจของพระพุทธศาสนา ยังทรงสั่งสอนหลักสำหรับการเผยแผ่พระศาสนาไว้ด้วย มีหลัก 2 ประการแรกว่า การไม่กล่าวร้าย และการไม่ทำร้ายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยกระแสข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ บิดเบือน หรือยุยง ซึ่งอาจนำไปสู่ความร้าวฉานถึงขั้นประหัตประหารกัน
หากทุกท่านยึดมั่นอุดมการณ์ที่จะไม่กล่าวร้าย และไม่ทำร้ายใครๆ ไม่ว่าในกาลไหนๆ ตามหลักการของโอวาทปาติโมกข์ ถ้าท่านได้รับข้อมูลข่าวสารใดๆ ที่อาจกระทบกระเทือนจิตใจ ก่อให้เกิดความโกรธเคือง หรือขุ่นข้องหมองใจ ท่านย่อมสามารถระงับการกระทำทางกายและทางวาจาที่เกรี้ยวกราด หยาบช้า หรือรุนแรงไว้ได้ ก่อให้เกิดสันติภาพในหมู่คณะรอบตัวท่าน อันจักขยายผลไปสู่ชาติบ้านเมือง และสังคมโลกได้ในที่สุด”
เราเห็นว่า ในการประคับประคองประเทศไทยที่ยามนี้กะปลกกะเปลี้ยเสียขวัญ นอกจากความร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ นอกเหนือไปจากสิทธิที่รัฐพึงต้องดำเนินการแล้ว การมอบปิยวาจาให้แก่กันและกันนั้น ไม่มีต้นทุน หากแต่มีมูลค่ามากมายมหาศาล ในการปลุก ปลอบ และเปลี่ยนเป็นพลังนำไปสู่การสร้างสังคมที่ดีกว่า