ทีมข่าวคิดลึก เสียงเรียกร้องดังอื้ออึงขึ้นมาทันที เมื่อสัญญาณการเลือกตั้ง ปรากฏชัดเจน เมื่อนักการเมืองเริ่มมีความหวัง มองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นแน่นอน อย่างน้อยตามไทม์ไลน์ ที่ "มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธานคณะกรรมร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ออกมาชี้เอาไว้แล้วว่า จะมีขึ้นในราวปลายปี2561 ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่ความพยายามจากนักการเมือง ต้องการให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยอมให้ไฟเขียว ยกเลิกคำสั่งห้ามพรรคการเมืองจัดกิจกรรมได้แล้ว เช่นเดียวกับการที่ แกนนำพรรคเพื่อไทย ออกโรงขอให้ คสช.งดใช้ "มาตรา 44" เมื่อภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ประกาศใช้แล้ว เมื่อวันที่ 6 เม.ย. เป็นต้นมา แต่ถึงกระนั้นใช่ว่า คสช.จะยอมให้ไฟเขียวแก่ฝ่ายการเมืองกันอย่างง่ายดาย เพราะรู้ดีว่า หากเปิดทางให้ง่ายๆ ความวุ่นวาย จะเกิดขึ้นตามมาทันที ส่วนจะไปถึงขั้น "คุมกันไม่อยู่" หรือไม่ คงต้องประเมินสถานการณ์ในมิติอื่นๆ ประกอบด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี แม้ที่ผ่านมา คสช.จะยังคง "ล็อก" ไม่ให้พรรคการเมือง สามารถเคลื่อนไหวกันได้เหมือนในภาวะปกติ แต่ทว่าย่อมไม่ใช่ปัญหาและอุปสรรค สำหรับ "นักเลือกตั้ง" แต่อย่างใด เพราะในความจริงแล้ว ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า บรรดาแกนนำทุกพรรคโดยเฉพาะ "2 พรรคใหญ่" ต่างพากันออกแอ็กชั่นเพื่อยึดพื้นที่ข่าว มาได้โดยตลอด เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ ได้จัดงานทำบุญวันเกิดพรรค ในวันเดียวกัน 6 เม.ย. ในท่ามกลางบรรยากาศแห่งความคึกคัก ครึกครื้น ด้วยเพราะมีแกนนำจากพรรคการเมืองต่างๆ พากันเดินทางมาอวยพรให้กับสองพรรคกันอย่างคับคั่ง ในโอกาสนี้ ทั้ง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และ "อนุทิน ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ต่างใช้ห้วงเวลานี้เปิดตัวดึงตัวเองออกมาสู่เวที ด้วยการประกาศ "ความพร้อม" ที่จะนำพาพรรคให้เดินหน้า และต่างมีความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อบ้านเมือง เมื่อมองกลับมาที่พรรคเพื่อไทย แม้จะเป็นพรรคใหญ่อันดับ 1 หากแต่กลับเหมือนเผชิญหน้ากับมรสุม รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาวะไร้หัว ด้วยเหตุที่ยัง "แม่ทัพ" นำทีมลงสนามได้ยากเต็มที เพราะไม่ว่าจะเปิดชื่อ เปิดใครก็ตาม ดูเหมือนอาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกถล่ม จนช้ำไม่ทันได้ลงสนามเลือกตั้ง แต่ถึงกระนั้นใช่ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่มีความหวังเสียทีเดียวเพราะต้องไม่ลืมว่า "จุดขายจุดแข็ง" ของพรรค ที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย คือการปูพรมด้วย "นโยบาย" ที่โดนใจประชาชน อีกทั้งยังต้องยอมรับในกลยุทธ์เชิงการตลาดที่ยังไม่ถูกปล่อยของออกมา ให้ฝ่ายตรงข้ามได้เห็น การเคลื่อนไหวที่เต็มไปด้วยความคึกคัก และเข้มข้นของนักการเมืองที่ต้องการโดดลงสู่สนามเลือกตั้งด้วยใจจดจ่อนั้น กำลังถูกมองว่านี่อาจเป็นเงื่อนไขที่จะนำมาใช้เพื่อทำให้แต่ละพรรคการเมือง แต่ละกลุ่มการเมือง ยินยอมพร้อมใจทำข้อตกลง "สงบศึก" กันทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง ได้หรือไม่ ?