รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ตามทฤษฎีการปกครองระบอบประชาธิปไตย “การเลือกตั้ง” ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการ “เข้าสู่อำนาจ” กล่าวคือ การเลือกตั้งเป็นกลไลที่มีความสำคัญในฐานะที่เป็นการมอบอำนาจอธิปไตยของประชาชนให้กับตัวแทนเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่แทนตามกระบวนการและขั้นตอนที่กำหนดไว้ ดังนั้น การเลือกตั้งจึงเปรียบเสมือนเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงได้มีส่วนร่วมทางการเมืองในการเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ด้วยการเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่เป็น “รัฐบาล” ในสภา เมื่อได้มาซึ่ง “รัฐบาล” ก็จำเป็นต้องมีการควบคุม ตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจ คงไม่มีใครกล้าปฏิสธว่ากระบวนการตรวจสอบตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภานั้น ก็คือ “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” แบ่งได้เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล และรัฐมนตรีทั้งคณะ โดยประโยชน์ที่ “ประชาชน” ได้รับจากการอภิปราย ก็คงต้องตอบไปตาม “ทฤษฎี” ว่าจะได้รับรู้ “ข้อมูล” ซึ่งจะนำไปใช้ในการประกอบการตัดสินใจเพื่อประเมินผลงานของรัฐบาล ฉะนั้นเมื่อได้อภิปรายฝ่ายค้านจึงจำเป็นต้อง “ทำการบ้าน” อย่างหนัก เพราะหาก “ข้อมูลแน่นเนื้อหาปึ้ก” การสั่นคลอนบัลลังก์รัฐบาลก็เป็นเรื่องที่พอจะเป็นไปได้ ดังนั้น เมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญการที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร กำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ เป็นเวลา 3 วัน ก่อนลงมติในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ จึงเป็นสิ่งที่ได้รับการจับตามองจากหลายฝ่าย และคาดว่าการอภิปรายครั้งนี้น่าจะเข้มข้น เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนก่อนการอภิปรายที่กำลังจะมีขึ้น “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,088 คน ในประเด็น ประชาชนคิดอย่างไร? กรณี การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รัฐมนตรี สรุปผลได้ ดังนี้ ประชาชนจะติดตามการอภิปรายที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ หรือไม่? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 45.59 คือ ติดตาม เพราะประเด็นที่ฝ่ายค้านยื่นขอเปิดอภิปรายน่าสนใจ อยากฟังการชี้แจงของทั้ง 6 รัฐมนตรี ต้องการรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงให้มากขึ้น ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 29.32 เพราะต้องทำงาน อาจไม่มีเวลาติดตาม ทำให้เครียด การอภิปรายครั้งนี้ คงไม่แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา ฯลฯ ไม่ติดตาม ร้อยละ 25.09 เพราะไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ไม่น่าจะเกิดประโยชน์กับประชาชน ไม่อยากรู้ ไม่เชื่อถือนักการเมือง ฯลฯ เรื่องที่ประชาชนสนใจหรืออยากให้มีการอภิปรายมากที่สุด พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 44.52 คือ ผลงานของนายกรัฐมนตรีและฝ่ายรัฐบาล การไม่ปฏิบัติตามนโยบาย ที่ให้ไว้ รองลงมา ได้แก่ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน ร้อยละ 33.56 การปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง ร้อยละ 23.27 การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 13.13 และการใช้งบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง อนุมัติโครงการต่างๆ ร้อยละ 10.55 สิ่งที่ประชาชน อยากเห็น จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ43.33 คือ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย เคารพกฎกติกาในที่ประชุม รองลงมา ได้แก่ ข้อมูลเป็นประโยชน์ สร้างสรรค์ ชัดเจน ตรงประเด็นตามข้อเท็จจริง ร้อยละ 37.12 และรัฐบาลปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น นำข้อเสนอแนะไปใช้ ร้อยละ 33.48 สิ่งที่ประชาชน ไม่อยากเห็น จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ51.21 คือ พฤติกรรมไม่เหมาะสม ทะเลาะกัน ประท้วงบ่อย ทำสภาล่ม รองลงมา ได้แก่ ตอบคำถามไม่ชัดเจน ไม่ตรงประเด็น พูดนอกเรื่อง พูดเรื่องเดิม ร้อยละ 33.15 และไม่เคารพที่ประชุม นั่งหลับ เล่นมือถือ ไม่เข้าประชุม ไม่รักษาเวลา ร้อยละ 28.68 ประชาชนคิดว่าจะได้รับประโยชน์จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือไม่? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 40.07 คือ ไม่แน่ใจ เพราะต้องรอดูจากการอภิปราย ขึ้นอยู่กับผลที่จะเกิดขึ้น ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ ได้ประโยชน์ ร้อยละ33.92 เพราะได้รับรู้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นจากทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ได้ฟังการชี้แจงจาก 6 รัฐมนตรี อาจมีข้อมูลใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ช่วยให้เข้าใจการเมือง มากขึ้น ฯลฯ และ ไม่ได้ประโยชน์ ร้อยละ26.01 เพราะเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของสภา นักการเมืองมัวแต่ทะเลาะโต้เถียงกันไปมา เป็นเพียงแค่เกมการเมืองรัฐบาลยังคงบริหารประเทศต่อไป ฯลฯ หลังการอภิปรายเสร็จสิ้นลง ประชาชนคิดว่าการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 55.88 คือ เหมือนเดิม เพราะ คณะทำงานชุดเดิม รัฐบาลยังคงมีอำนาจและมีเสียงข้างมาก ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ น่าจะแย่ลง ร้อยละ24.08 เพราะรัฐบาลแก้ปัญหาล่าช้า ไม่เป็นรูปธรรม สถานการณ์อาจบานปลายหรือแย่ลงกว่าเดิม ฯลฯ และน่าจะดีขึ้น ร้อยละ 20.04 เพราะ เป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลเร่งทำงาน รู้ข้อบกพร่องหรือปัญหาที่ผ่านมา นำไปพัฒนาปรับปรุง ฯลฯ นี่คือ ความคิดเห็นของประชาชนกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รัฐมนตรี เมื่อพิจารณาแล้วคงต้องยอมรับว่าประชาชนค่อนข้างจะคาดหวังที่จะได้เห็นการอภิปรายแบบคุณภาพที่เป็นการต่อสู้กันด้วยข้อมูลไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ผลลัพธ์ของการอภิปรายจะเป็นอย่างไร? “ประชาชน” จะ “ผิดหวัง” ... “สมหวัง” การอภิปรายจะ “สร้างประโยชน์” หรือ “บ่อนทำลาย” ระบอบประชาธิปไตยไทย...ก็คงต้องติดตามในวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2563…รับรองว่าได้คำตอบที่ชัดเจนแน่นอน..!!