การกราดยิงอย่างบ้าคลั่งใส่ผู้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ในเหตุการณ์สะเทือนขวัญเมื่อวันพระใหญ่ที่ผ่านมา เมื่อคนร้ายปล้นอาวุธปืนนำมาทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนในที่สาธารณะกลางเมือง จ.นครราชสีมา เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดและไม่อยากให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
วิกฤติตัวประกันที่ห้างเทอมินัล21 จ.นครราชสีมา ใช้เวลาเพียง 17 ชั่วโมง มีผู้เสียชีวิตไปถึง 30 รายและบาดเจ็บอีก 58 ราย ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือผู้คนในโลกโซเชียล ที่ส่งเสียงเชียร์การกระทำของผู้ก่อเหตุ คนเหล่านั้นสั่งสมอะไรไว้ในจิตใจ สะท้อนความวิปลาส
แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยหลังจากเหตุการณ์วิปโยค คือการด่วนสรุป เหมารวม และเชื่อมโยงกับตรรกะมั่วๆ ทำให้เกิดความเข้าใจที่สับสน
ในมุมมองของ นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ผู้เคยทำงานทางด้านนิติจิตเวช ให้หลักการทางด้านจิตวิทยาเอาไว้ในเฟจเฟซบุ๊กตอนหนึ่ง ระบุว่า
“... เวลาเรามองคนที่ มีปัญหาเรื่องการควบคุมตนเองแล้วไปก่อเหตุรุนแรงต่างๆไม่ว่าจะเป็นคดีเล็กน้อย
หรือคดีใหญ่ๆ สิ่งที่เราควรจะต้องวิเคราะห์เราก็จะใช้หลัก อย่างน้อย 3 อย่างเช่น Bio Psycho Social
...@Biological cause คือสาเหตุหรือปัจจัยทางด้านชีววิทยาเช่น ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองซึ่งอาจจะเกิดมาจากความเจ็บป่วยที่เป็นโรคเช่น โรคทางจิตเวชต่างๆหรือการถูกกระตุ้นด้วยการใช้สารเสพติดทั้งหลายที่รุนแรงจนทำให้เกิดการสูญเสียการควบคุมตัวเองหรือมีภาวะหวาดระแวงจนต้องใช้การป้องกันตัวเองออกมาเป็นรูปแบบความก้าวร้าวหรือเปล่า.... อันนี้เป็นสิ่งที่คนมักจะไม่ค่อยนึกถึง และมองข้ามไป แต่ในบทบาทของจิตแพทย์เราจะต้องมองตรงนี้เสมอ... และที่สำคัญไม่ใช่เป็นการมองเพื่อเข้าข้างผู้ก่อคดีหรือผู้ก่อเหตุแต่อย่างใด
@Psychological cause อันนี้จะหมายถึงสาเหตุทางด้านจิตใจซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ บุคลิกภาพ พัฒนาการทางด้านบุคลิกภาพ เรื่องคุณธรรมจริยธรรม พูดง่ายๆภาษาชาวบ้านอาจจะหมายความรวมถึง "อุปนิสัย" หรือ "สันดาน" นั่นเอง
.... ดังนั้นเราก็ต้องไปหาข้อมูลพื้นฐานก่อนหน้านี้ว่าคนที่ใช้ความรุนแรงมีพื้นเพที่มาอย่างไร เคยก่อเหตุแบบไหนมาก่อนเคยใช้ความรุนแรงมาก่อนไหมมีปัญหาเรื่องสัมพันธภาพกับคนรอบข้างอย่างไรบ้างความสามารถในการทำงานหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นอย่างไร รวมถึงวิธีการในการแก้ปัญหา เมื่อเข้าสู่ภาวะวิกฤตทางจิตใจด้วย
@Social คือสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวของผู้ก่อเหตุ ทั้งหลาย.... ว่ามีลักษณะของสิ่งแวดล้อมที่มากระตุ้นอย่างไรบ้าง
..... ยกตัวอย่างเช่นสิ่งแวดล้อมที่ใช้ความรุนแรงกดดันบีบคั้นหรือ คอยกระตุ้นให้คนๆนั้นมีความเครียดอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า High Emotional Expression เป็นสิ่งที่ต้องไปศึกษาแล้วก็หาข้อมูลอย่างละเอียด จะได้ไม่มาวิเคราะห์กันมั่วๆ
.... และที่เจอบ่อยๆมักจะเป็น ข้อมูลที่บางทีผู้สื่อข่าวก็ตั้งข้อสมมติฐานขึ้นมาเองซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นสาเหตุ ใดๆเลยที่นำไปสู่การก่อคดี เนื่องจากทุกอย่างเป็นความเร่งรีบแล้วพยายามสรุปเพื่อให้เข้า บล็อกตามที่ตัวเองสันนิษฐาน (อาจจะมั่วๆ เอา) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ”
กระนั้น วิกฤติที่เกิดขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องหันมาไตร่ตรองในประเด็นต่างๆ ที่นำมาสู่เหตุการณ์รุนแรงในครั้งนี้ร่วมกัน สำรวจอาการป่วยไข้ของสังคมไทย ที่สำแดงผ่านคนร้าย และเข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรค “ไวรัสความรุนแรง” เพื่อป้องกันและปราบปรามไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำหรือการลอกเลียนแบบ แม้ว่าจุดจบของผู้ก่อเหตุจะถูกวิสามัญฆาตกรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าเชื้อไวรัสได้ตายตามไปด้วย