ทวี สุรฤทธิกุล ต้นหญ้าย่อมงอกจากดินฉันใด ประชาธิปไตยย่อมมาจากประชาชนฉันนั้นพระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นผู้ทำให้เกิดประชาธิปไตยโดย “สายเลือดที่เป็นประชาธิปไตย” มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ดังที่ได้เล่ามาถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ครั้งที่ได้ผนวชเป็นพระภิกษุ ภายใต้ “ผ้าเหลือง” ที่ทรงครองเป็นเวลา 27 ปี ได้ทรง “เข้าถึง” ราษฎรของพระองค์อย่างใกล้ชิด ได้เห็นทุกข์สุข การทำมาหากิน ชีวิตความเป็นอยู่ และที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือ “อารมณ์ทางสังคม” ที่ในทางรัฐศาสตร์ถือว่าเป็น “ปรอท” ชี้วัดอันสำคัญของการพัฒนาทุกๆ สิ่งในบ้านเมือง อารมณ์ทางสังคม หมายถึง ความรู้สึกและความต้องการของผู้คนกลุ่มต่างๆ ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผู้ปกครองที่ดีจำเป็นจะต้องมีความสามารถในการ “สัมผัส” รับรู้ความรู้สึกและความต้องการของผู้ใต้ปกครอง ที่แน่นอนว่าเต็มไปด้วยความหลากหลาย แต่ที่ยุ่งยากไปกว่านั้นก็คือเป็นความรู้สึกและความต้องการที่ขัดแย้ง แตกต่าง และมากน้อยไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ “นานาจิตตัง – ยากแท้หยั่งถึง” แต่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ก็ทรงหยั่งถึงด้วยการ “เข้าหา” หรือ “เข้าถึง” จน “เข้าใจ” และสามารถที่จะนำมา “พัฒนา” ประเทศได้อย่างทันท่วงที เป็นรากฐานที่ทำให้เราก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน จึงไม่น่าประหลาดใจที่พระราชทายาท ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสผู้สืบราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 5 ต่อมา จนถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช พระราชปนัดดา(เหลน)ก็ได้รับ “ดีเอ็นเอ” เช่นนั้นมา (ดังที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาที่ 9 ในพระบรมโกศ ทรงสามารถ “สังเคราะห์” แนวคิดของพระราชอัยกาในการแก้ไขปัญหาของอาณาประชาราษฎร์ว่าต้อง “เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา”) หรือหากจะมองย้อนไปถึงบรรพบุรุษของพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี ก็อาจจะบอกได้ว่าทรงมาจาก “สามัญชน” หรือคนชาวบ้าน คนไทยทั้งหลายนั่นเอง ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เคยถวายการสอนแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรราชกุมารี เมื่อครั้งที่ทรงเป็นนิสิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเนื้อหาวิชาเกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทย ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ “แอบ” เล่าให้พวกเรา(ลูกศิษย์ลูกหาหรือ “เด็กสวนพลู”)ฟังว่า เมื่อสอนถึงเรื่องพระราชประเพณีต่างๆ สมเด็จพระเทพรัตนฯทรงให้ความสนใจด้วยดี ทั้งยังทรงเข้าใจด้วยว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ยังดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงในสังคมไทยนี้ ก็ด้วย “ความใกล้ชิด” ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนนั่นเอง อนึ่งแม้จะมีฐานะแตกต่างกันหรือต้องปฏิบัติต่อกันแตกต่างกัน เป็นต้นว่า การมีราชาศัพท์หรือพระราชประเพณีหวงห้ามต่างๆ แต่พระมหากษัตริย์กับราษฎรไทยก็ไม่ “ห่างเหิน” กัน ถึงขั้นนับญาติเป็น “พ่อ แม่ ลูก” กันได้ในที่สุด พวกเราคงได้เรียนประวัติศาสตร์มาส่วนหนึ่งว่า ชาติอังกฤษกับฝรั่งเศสเข้ามาล่าเมืองขึ้นต่างๆ ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 3 ของเรา ด้วยการอ้างถึงความล้าสมัยในด้านต่างๆ ที่รวมถึงพระราชประเพณีทั้งหลาย เช่น การหมอบคลาน การแต่งกาย(ที่ค่อนข้างโป๊เพราะต้องเปลือยช่วงบน นัยว่าเพื่อไม่ให้มีการแอบพกพาอาวุธเข้ามา) ฯลฯ จึงทรงได้ให้ปรับปรุงพระราชเพณีในการเข้าเฝ้าและการแต่งกาย แต่ผลการรุกรานจากชาติฝรั่งในครั้งนั้นยังได้ส่งผลที่สำคัญต่อสังคมไทย ที่ตำราประวัติศาสตร์ไม่เคยกล่าวถึง นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงพระราชฐานะ จากกษัตริย์ในแบบ “เทวราช” ที่ศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง มาสู่กษัตริย์แบบ “ประชาธิปไตย” ที่ใกล้ชิดกับอาณาประชาราษฎร จากที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงในพระราชฐานะหรือความเป็นกษัตริย์ มาให้ความสำคัญกับอนาคตของประเทศชาติ ซึ่งก็คืออาณาประชาราษฎร อันเปรียบได้กับ “สายเลือด” ของพระองค์ การปรากฏพระองค์ไปทั่วแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ “ผ่อนคลาย” ความตรึงแน่นของความรู้สึกที่มีมาแต่เดิมว่า พระเจ้าแผ่นดิน “แตะต้องไม่ได้” ให้กลายเป็น “ความชื่นชม” ที่ได้สัมผัสพระองค์แม้ด้วยสายตาหรือ “คำร่ำลือ” ที่เล่าความถึงพระสิรโฉม (อย่างที่ใช้คำชาวบ้านว่า “ได้เห็นพระองค์เป็นๆ”) กลายเป็น “พระบารมี” ที่เปลี่ยนสภาวะจาก “ความฝัน” มาสู่ “ความจริง” สร้างความใกล้ชิดด้านจิตใจหรือกระแสสำนึกในความเป็นพลเมือง ที่เรียกว่า “ฉันเป็นคนไทยใต้ร่มพระบารมี” อย่างไม่เคยมีมาก่อน อันเป็นการสร้าง “พลังของการมีส่วนร่วม” อันเป็นพลังสำคัญในระบอบประชาธิปไตย นั่นก็คือทำให้คนไทยเกิดความรู้สึกว่า “ฉันต้องช่วยในหลวงพัฒนาบ้านเมือง” จากการสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับประชาชนที่วางรากฐานไว้ตั้งแต่รัชสมัยของพระราชบิดา ทำให้ในรัชสมัยของพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ทรงดำเนินการพัฒนาประเทศไปได้อย่างราบรื่น เริ่มจากความรู้สึก “เห็นพระทัย” ที่จะต้องทรงเสียสละดินแดนไปทีละส่วนในการแลกกับอำนาจอธิปไตยไม่ให้นักล่าอาณานิคมคือชาติอังกฤษกับฝรั่งเศสมาครอบงำประเทศไทยทั้งประเทศ อย่างที่ได้กระทำกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ชาติทั้งสองนี้เพียงแค่ยึดกุมอำนาจจากผู้ปกครองที่เมืองหลวงได้ ก็เข้าครอบครองประเทศนั้นๆ ทั้งประเทศได้ จากนั้นเมื่อพระองค์ทรงมีพระราโชบายที่จะสร้างจะทำสิ่งใด ก็เกิดความรู้สึก “เป็นที่ยอมรับ” จากประชาชน นั่นก็คือสิ่งที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “ความชอบธรรม” อันเป็นฐานอำนาจที่สำคัญในทุกๆ ระบอบการเมือง ความชอบธรรมของพระมหากษัตริย์เกิดขึ้นจากความ “เข้าใจ” และ “ยอมรับ” ไม่เพียงแต่ด้วยกระบวนการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยในทุกๆ ด้านดังที่ปรากฏขึ้นตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว แต่ยังพัฒนาจิตใจของคนไทยให้มีความทันสมัยมากขึ้นไปด้วย นั่นคือการเห็นความสำคัญของการเป็นประชาชน ที่ไม่ได้เป็นเพียง “ไพร่ฟ้า” ดังที่เคยเป็นมาแต่ก่อน แต่คือ “พลเมือง” หรือผู้มีสิทธิ์มีส่วนในการสร้างชาติบ้านเมือง นี่คือการปลูกปักประชาธิปไตยขึ้นในหัวใจประชาชน