สถานศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้แต่ละแห่ง โดยรวมแล้ว มีความพิเศษไปจากสถานศึกษาที่มีอยู่โดยทั่วไปในพื้นที่แห่งอื่น (ที่อยู่นอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้) ด้วยบริบทที่โดดเด่นทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความเป็นตัวของตัวเองที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม อาทิ การแต่งกายของครูอาจารย์ ตลอดจนนักเรียนในสถานศึกษานั้นๆ ที่มีความเป็นคนไทยมุสลิมอย่างชัดเจน กอปรกับสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาที่สิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่จะมีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมในทางศาสนาอิสลาม ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสถานที่สำหรับการประกอบพิธีทางศาสนาอยู่ในบริเวณโรงเรียนหรืออย่างน้อยก็อยู่ใกล้ๆ กับสถานศึกษา ยิ่งทำให้บรรยากาศโดยทั่วไป มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับพื้นที่อื่นของประเทศ ดังนั้น การเข้าถึงสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษที่เปรียบเสมือนหัวใจของฝ่ายต่อต้านรัฐในการส่งต่อความคิดต่างให้เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายในลักษณะนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากแต่ต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการ เพื่อให้การดำเนินการของรัฐสามารถเปิดประตูรั้วของสถานศึกษาที่ล่อแหลมต่อการบ่มเพาะความคิดแปลกแยกให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนของชาติ อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐนั้น มีผลการขับเคลื่อนการเอาชนะทางความคิดของรัฐที่มีต่อฝ่ายขบวนการร้ายแห่งนี้ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยมีผลการวิจัยฉบับหนึ่งที่พบว่า แนวทางการในการเข้าถึงสถานศึกษาที่ล่อแหลมและมีแนวโน้มในการบ่มเพาะแนวความคิดการก่อความไม่สงบ ของหน่วยงานภาครัฐ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการเข้าถึงสถานศึกษาทางตรงนั้น พบว่า ควรดำเนินการดังนี้ 1) สร้างกิจกรรม (Event) พัฒนาสัมพันธ์ สร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โลกในแง่มุมใหม่ ที่เป็นกิจกรรมเพื่อการประกวด การออกแบบคำกลอน งานศิลปะต่างๆ ชิงรางวัลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดกิจกรรมแข่งขันกีฬาฟุตบอล หรือกีฬาประเภท อื่นๆ ที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ การร่วมกันพัฒนาพื้นที่ในสถานศึกษาทั้งด้านอาคารสถานที่ศึกษา เพื่อให้มีโอกาสในการสร้างทัศนะที่ดีของเด็กและเยาวชน ตลอดจนครู-อาจารย์ของสถานศึกษา ที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น 2) นำพาเปิดโลกทัศน์ หน่วยงานของรัฐต้องสร้างโอกาสให้เด็กและเยาชน ตลอดจนครู-อาจารย์ ในสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ได้เดินทางไปทัศนะศึกษานอกพื้นที่ ทั้งสถานที่ที่เป็นโลกทันสมัย เป็นเรื่องราวที่เป็นสากล และสถานที่ที่เป็นแนววิถีชีวิตเช่นเดียวกับคนในพื้นที่ในรูปแบบที่นิยมความเป็นอิสลามสายสันติ มีความเป็นหนึ่งเดียวอย่างผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมอื่นๆ ได้อย่างเป็นพหุวัฒนธรรม พัฒนาการศึกษาทางไกลผ่านโลกออนไลน์ นำพาเด็กและเยาวชนได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์ได้ตลอดเวลา เห็นโลกกว้างที่ไม่อาจปิดกั้นตนเองให้ล้าหลังอยู่ต่อไป 3) พัฒนาทางกายภาพและความคิด การพัฒนาทางกายภาพโดยการแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรทั้งภายในพ้นที่และภายนอกพื้นที่ เพื่อนำมาพัฒนาสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ เน้นการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ภาษาอังกฤษ โดยร่วมกันสร้างห้องเสมือนจริง ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ห้องศึกษาภาษาต่างประเทศ ร่วมกับการพัฒนาการศึกษาทางโลกทันสมัยออนไลน์ ให้เด็กและเยาวชน ตลอดจนครู-อาจารย์ของสถาบันการศึกษา ได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโลกภายนอกในแง่มุมอื่นมากขึ้น 4) ผลิตตัวแทน (Agents) ต้องมีแนวทางในการเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเป้าหมายให้การเปิดใจ ยอมรับฟังความคิดความเห็นบ้างไม่มากก็น้อย ด้วยการสร้างให้เกิดบุคคลที่เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐ (Agents) ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นตัวแทนรัฐ เข้าไปพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เปิดโลกทัศน์แทนคนของรัฐ โดยต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบและมีความแนบเนียน โดยมีกระบวนการอย่างคู่ขนาน ในการเข้าถึงสถานศึกษา ทางอ้อม ได้แก่ 1) สร้างสภาวะแวดล้อมใหม่(ระดับนโยบาย) หน่วยงานภาครัฐ จะต้องสร้างสภาวะแวดล้อมในระดับนโยบายที่มีความชัดเจน เพื่อกำกับทิศทางแนวทางของสถานศึกษาในพื้นที่ให้สอดรับกับงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการเข้าไปจัดระบบองค์กรที่กำกับการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จังหวัด (สช.จังหวัด) ให้เป็นเครื่องมือของรัฐในระดับนโยบายที่มีความเข้มแข็ง สามารถกำหนด กำกับทิศทางการบริหารการศึกษาของผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น 2) ให้เชื่อมโยงชุมชน รัฐจะต้องสร้างระบบให้ชุมชนรอบสถานศึกษา มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในชุมชนนั้น ในขณะเดียวกัน สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในชุมชนนั้น ต้องเชื่อมโยงกับคนในชุมชนอย่างชัดเจนในมิติต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ซึ่งกันและกัน ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐเพิ่มมากขึ้น 3) ยกระดับการแข่งขันคุณภาพการศึกษา ด้วยการยกระดับคุณภาพการศึกษาของแต่ละสถาบันการศึกษาเอกชนสอนศาสนานั้น จะช่วยให้ผู้บริหาร ครู-อาจารย์ ตลอดจนเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา มีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาวิชาความรู้มากขึ้นกว่าการหมกมุ่นอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นการสร้างทัศนะใหม่ในการเรียนการสอนที่มุ่งศึกษาเพื่ออนาคต โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องวางระบบการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านคุณภาพการศึกษาในวงกว้าง สร้างโอกาสในการยกระดับการแข่งขันคุณภาพการศึกษาที่สอดรับกับศักยภาพของแต่ละกลุ่มสถาบันการศึกษา ทั้ง O-NET และ I-NET และ 4) นำพาค่านิยมใหม่ การเข้าถึงทางอ้อมโดยการสร้างบรรยากาศใหม่ร่วมกันในสถานศึกษา เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ปัญหาบรรยากาศเดิมๆ ของสถานศึกษา ที่มุ่งสร้างความเป็นอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากบริบทของรัฐโดยทั่วไป เพื่อให้เกิดอัตลักษณ์เฉพาะตน เฉพาะถิ่นขึ้นนั้น อันจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความคิดความเห็นที่แปลกแยกแตกต่างจากคนไทยโดยทั่วไป รวมทั้งง่ายต่อการส่งต่อแนวคิดและค่านิยมร่วมที่แปลกแยกออกไป เพื่อง่ายต่อการชี้นำให้เห็นความต่างกับพื้นที่อื่นของประเทศ ดังนัน การนำพาค่านิยมใหม่ให้เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ในสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาจากรุ่นสู่รุ่น โดยมุ่งให้เกิดแนวคิดในการสร้างค่านิยมใหม่ด้วยคนในสถานศึกษาเอง โดยเริ่มจากวิธีคิด กิจกรรมประจำวันในสถานศึกษาดังกล่าว ให้มีโลกทัศน์ใหม่ที่สอดรับกระแสของโลกใหม่ในศตวรรษที่ 21 หากรัฐ สามารถนำข้อค้นพบที่ได้จากงานวิจัยดังกล่าวข้างต้น ไปใช้เป็นเครื่องมือสำคัญให้หน่วยงานระดับปฏิบัติ นำไปใช้อย่างเป็นกระบวนการแล้ว โอกาสที่ฝ่ายขบวนการร้าย จะสานต่อแนวคิดต่างให้เกิดกับคนรุ่นใหม่ก็จะลดน้อยถอยลง ในทางตรงข้าม จะเพิ่มโอกาสให้หน่วยงานของรัฐ ในการเข้าถึงสถานศึกษาที่ล่อแหลม เพื่อนำวิธีคิดใหม่ๆ เข้าไปเปิดให้คนรุ่นใหม่ นำไปใช้แสวงหาทางออกของปัญหาด้วยสันติวิธีในที่สุด