แม้นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ จะประเมินว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019จะจบลงภายใน 3 เดือน กระนั้น ในความเป็นจริงยังไม่อาจรู้ได้ว่า ศึกนี้จะยืดเยื้อยาวนานหรือไม่ ท่ามกลางมรสุมข่าวลือ ข่าวลวงที่ถาโถมออกมาทำลายความเชื่อมั่น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทย เจอมรสุมหลายลูกทั้งปัญหาไวรัสโคโรนา กระทบต่อการท่องเที่ยว ปัญหางบประมาณปี2563 ยังไม่บังคับใช้ ปัญหาเศรษฐกิจโลก แต่ไม่ใช่เวลาต้องมานั่งโทษใคร ทุกคนต้องหันหน้าเข้าหากัน เพื่อให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ แม้ จีดีพี จะขยายตัวลดลงไปบ้างแต่ไทยยังมีศักยภาพดีพอ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงมีมติเห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวปี 2563 เพื่อลดผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา และความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศที่เกิดจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วยมาตรการด้านภาษีและมาตรการด้านการเงิน โดยคาดว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้รวมทุกมาตรการประมาณ 4,500 ล้านบาท สำหรับมาตรการด้านภาษี ได้แก่ มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน โดยปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน ที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเที่ยวบิน ในประเทศ จากเดิม 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร ถึงวันที่ 30 ก.ย.63 คาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ 2,000 ล้านบาท มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อการอบรมสัมมนาภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.63 เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง คาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิ์ 1,000 ราย คิดเป็นเงินผู้ประกอบการต้องจ่าย 435 ล้านบาท และเป็นคืนภาษีให้บริษัทห้างหุ้นส่วนจำนวน 87 ล้านบาท มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมหักรายจ่ายสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อต่อเติม/ปรับปรุง หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.63 จำนวน 1.5 เท่าของรายจ่ายจริง คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์ 1,000 ราย คิดเป็นเงินลงทุน 24,000 ล้านบาท เป็นภาษีที่ต้องคืนผู้ประกอบการ 2,400 ล้านบาท ในช่วง 20 ปี หรือปีละ 120 ล้านบาท ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 จากเดือน มีนาคมของปีนี้ ออกไปเป็นภายในเดือน มิถุนายนปีนี้ มาตรการด้านการเงินสถาบันการเงินของรัฐใช้กรอบแนวทางเดิมของการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีก่อนหน้านี้ แต่ให้เพิ่มการช่วยเหลือในกลุ่มท่องเที่ยวเข้าไปด้วย โดยมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรน วงเงินรวม 125,000 ล้านบาท จากธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยให้ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปี ขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียม เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับเสริมสภาพคล่อง และปรับปรุงสถานประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆเป็นมาตรการระยะสั้นที่ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติไวรัสโคโรนา กระนั้นในระยะกลางและระยะยาวเป็นโจทย์ที่ท้าทายทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างยิ่ง เพื่อฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบและปลุกให้เศรษฐกิจไทยพุ่งทะยานได้อีกครั้ง ด้วยความหวังว่าฟ้าหลังฝนจะมีรุ้งงาม