เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาเป็นวันแรกทีเริ่มเปิดหน่วยฝนหลวงประจำปี 2563 ซึ่งปีนี้ได้เริ่มเร็วขึ้นกว่าที่ผ่านมา 1 เดือน จากเดิมที่จะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคม เนื่องจากแนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งและฝุ่นละออง PM2.5 จะรุนแรง
โดยระหว่างวันที่ 3-16 กุมภาพันธ์เปิดหน่วยปฏิบัติการ 6 หน่วย ได้แก่ จ.พิษณุโลก นครสวรรค์ ขอนแก่น บุรีรัมย์ ระยอง และสุราษฎร์ธานี โดยใช้อากาศยานรวม 12 ลำ เป็นเครื่องบินฝนหลวง 8 ลำและเครื่องบินกองทัพอากาศ 4 ลำ อีกทั้งเปิดฐานเติมสารฝนหลวง 1 ฐานที่ จ. เชียงใหม่
จากนั้นตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์เป็นต้นไปจะเปิดหน่วยปฏิบัติการทั้งหมด 11 หน่วยได้แก่ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ กาญจนบุรี ขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และสุราษฎร์ธานี รวมถึงเปิดฐานเติมสารฝนหลวง 5 ฐานที่จ.ตาก ลพบุรี สกลนคร จันทบุรีและสงขลา(หาดใหญ่)
ทั้งนี้ ตำราฝนหลวงพระราชทาน ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรนั้น ได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆที่ต้องการให้ประเทศไทยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ ข้อมูลจาก
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า มีหลายประเทศที่แจ้งความประสงค์เข้ามาเพื่อขอพระราชทานให้มีการเข้ามาศึกษาศาสตร์พระราชาฝนหลวง หรือให้ไทยไปถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ทั้งนี้ต้องโดยพระบรมราชานุญาตจากนั้นกรมฝนหลวงฯ จึงจะเข้าไปช่วยเหลือได้ โดยเบื้องต้นต้องไปดูพื้นที่จริง สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ ของประเทศนั้นๆ ก่อนที่จะมาสรุปว่า มีโอกาสที่จะทำความร่วมมือกันในการถ่ายทอดความรู้ด้านศาสตร์พระราชาฝนหลวงร่วมกันหรือไม่ และต้องมีการถวายรายงานความคืบหน้าเป็นระยะๆต่อกองราชเลขาธิการ
ปัจจุบันกรมฝนหลวงฯมีการติดต่อเพื่อทำความร่วมมือกับต่างประเทศ 13 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ รัฐสุลต่านโอมาน รัฐกาตาร์ สหสาธารณรัฐแทนซาเนียสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศมองโกเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ทั้งนี้ความก้าวหน้า ความร่วมมือของแต่ละประเทศกับไทย จะต่างกันไป ตามข้อจำกัดของแต่ละประเทศ เช่นด้านงบประมาณ เป็นต้น
ทั้งนี้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมฝนหลวงฯ และนานาประเทศนั้น เพื่อศึกษาและพัฒนาให้การทำฝนหลวง สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนได้ ทั้งการทำฝนเมฆเย็น เมฆอุ่นและรวมถึงการร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น การพัฒนาจรวดฝนหลวง พลุทำฝนและสารฝนหลวงที่มีความเข้มข้นมากขึ้นเพื่อลดปริมาณและน้ำหนักของสารฝนหลวงที่จะต้องนำขึ้นไปบนเครื่องบิน แต่จะรักษาประสิทธิภาพไว้ตามศาสตร์ที่พระราชทานไว้
ในวันนี้ฝนหลวงไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะภัยแล้ง แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และปัญหาฝุ่น PM2.5 ทำให้ฝนหลวงมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาฝุ่นด้วย ฝนหลวงจึงเป็นความหวังของคนไทย และนานาประเทศ ได้ซาบซึ้งในพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยิ่งนัก