เริ่มต้นเดือนแห่งความรัก ด้วยความหวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019จะคลี่คลายและยุติลงได้โดยเร็ว เพราะพิษของไวรัสไม่ได้ทำลายเฉพาะสุขภาพของประชาชนเพียงเท่านั้น หากแต่ยังทำลายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศไทย
กระนั้น เมื่อหันมาดูสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย ล่าสุดนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.5% ชะลอ ลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.1% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากอุปสงค์ต่างประเทศเป็นสำคัญ ทั้งเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ปริมาณการค้าโลกที่ชะลอตัวลงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวลง -2.7% แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีถึง 39.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.2%
ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ในปี 2563 คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการการเงินการคลังที่สนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนา คมขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงโครง การร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) และการฟื้นตัวด้านการส่งออกที่ติดลบมาเป็นบวกได้ 1%
ทั้งนี้ปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในปี 2563 ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจจีน ความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (เบร็กซิต) ขณะที่ความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม แต่เชื่อว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยภายในเดือนมีนาคม
อย่างไรก็ตาม สศค.คาดว่าสถานการณ์ไวรัสโคโรนาจะคลี่คลายได้ไม่เกิน 3 เดือน หากเป็นไปตามคาดก็ไม่ส่งผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจมากนัก แต่ยังต้องรอประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเบื้องต้นประเมินว่านักท่องเที่ยวชาวจีนจะปรับตัวลดลง แต่ก็จะมีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นเข้ามาชดเชย โดยเฉพาะอินเดีย ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังเติบโตได้ และจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไม่มากนัก
ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้ประเมินผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 63 จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่, การแพร่ระบาดของไวรัสทำให้ความต้องการสินค้าไทยลดลง, ปัญหาภัยแล้ง, ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และ ความล่าช้าของงบประมาณปี 63 โดยคาดว่าจากปัจจัยเสี่ยงทั้ง 5 ด้านจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 2.26 แสนล้านบาท หรือกระทบต่อ GDP ราว 1.3%
อย่างไรก็ดี ม.หอการค้าไทยจะยังไม่ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยยังคง GDP ไว้ที่ 2.8% เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนของแต่ละปัจจัยต่างๆ ว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ยืดเยื้อยาวนานไปมากกว่า 3 เดือน หรือจะต้องไม่เกินไปจากเดือนพ.ค.นี้ เพราะหากควบคุมสถานการณ์ได้เร็ว ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มาก หากสถานการณ์จบเร็ว งบประมาณเบิกจ่ายได้เร็ว การท่องเที่ยวฟื้น เศรษฐกิจไทยก็อาจจะไม่กระทบหนัก แต่อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสที่ GDP จะโตได้น้อยกว่า 2.5% เพียงแต่ตอนนี้เราจะยังไม่ปรับประมาณการ ขอคงไว้ที่ 2.8% ตามเดิมก่อน เพราะหลายปัจจัยยังมีความไม่แน่นอน
สำหรับปัจจัยเสี่ยงแรกในเรื่องผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้น ม.หอการค้าไทย มองว่า หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในเดือนมี.ค.63 และการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ภายใน 3 เดือน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 1.17 แสนล้านบาท หรือกระทบต่อ GDP ให้ลดลง 0.67%
ดังนั้น หากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา สามารถปิดฉากลงได้อย่างรวดเร็ว นอกจากชีวิตของประชาชนจะปลอดภัยแล้ว จะไม่เป็นการซ้ำเติมปัญหาปากท้องเพิ่มขึ้นอีก