ทีมข่าวคิดลึก
แรงสั่นสะเทือนที่คาดหวังว่าจะได้เห็น หลังจากที่ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาคร่ำครวญว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกกระทำนั้นไม่เป็นไปดังที่หวังเอาไว้เสียแล้ว เพราะทำไปทำมาเสียงที่ดังข้ามประเทศ จากทักษิณ ครั้งนี้คงไม่มีผล สร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆให้เกิดขึ้น !
บรรดา "บิ๊ก คสช." และ"ขุนทหาร"ต่างออกมาประสานเสียงในทิศทางเดียวกันว่า ปฏิกิริยาจากทักษิณ ในลักษณะเช่นนี้ จะไม่กระทบกับภารกิจการสร้างความปรองดองอย่างแน่นอน และจากนี้ไปยังจะเดินหน้าตามกระบวนการขั้นตอนต่อไป ด้วยการเชิญทุกฝ่ายเข้ารับฟังการสรุปข้อเสนอแนะที่ผ่านมา"ประเด็นนี้ตนไม่ขอแสดงความคิดเห็น เพราะช่วงนี้เราต้องการความร่วมมือจากคนในชาติ บางเรื่องไม่พูดก็จะเป็นสิ่งที่ดี และเรารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ตนพยายามดำเนินการเรื่องการสร้างความปรองดองให้เป็นรูปธรรม"พล.อ.เฉลิมชัยสิทธิสาทผบ.ทบ.ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวเมื่อถูกซักถามถึงประเด็นการเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ป
"ผมยืนยันว่ากระบวนการทุกอย่างเดินหน้าไปพร้อมกัน ส่วนประเด็นที่สังคมสนใจคือเรื่องการเมือง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะทำความเข้าใจกันได้ โดยจะมีการเปิดเวทีและเชิญทุกฝ่ายมารับฟังสรุปข้อเสนอแนะทั้งหมดว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร และจะชี้แจงกันอีกครั้ง" บิ๊กเจี๊ยบ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ หากหันมาพิจารณาประเด็นว่าด้วยการสร้างความปรองดอง ตามเป้าหมายที่ คสช.วางเอาไว้นั้น ย่อมจะไม่สะดุด หรือหยุดลง จากความเคลื่อนไหวในลักษณะต่อต้าน คสช. ของอดีตนายกฯทักษิณ อย่างแน่นอน นั่นเป็นเพราะคสช.ได้กำหนด "แผนการเล่น" เกี่ยวกับภารกิจว่าด้วยการปรองดอง เอาไว้ชัดเจน ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า บรรดานักการเมืองจากหลายต่อหลายพรรคหลากสายกลุ่มการเมือง มีจำนวนไม่น้อยที่พวกเขาแทบ "ไม่คาดหวัง" ว่าการปรองดอง จะเกิดขึ้นได้จริงโดยเฉพาะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งถูกคาดการณ์กันว่าไม่น่าจะเกินปี 2561 !
นักการเมืองหลายต่อหลายฝ่ายจากหลากหลายป้อมค่าย ต่างประเมินกันว่าที่สุดแล้วพวกเขาแทบไม่สามารถฝากความหวังว่าจะได้เห็นเรื่องของการปรองดองเกิดขึ้นได้จริง หากแต่นี่เป็นเพียง"ปาหี่" ที่รัฐบาล คสช. เลือกที่จะ set ขึ้นมาเพื่อ "ตรวจแถว" ว่าทั้งแนวร่วมและฝ่ายตรงข้ามอยู่ในสภาพการณ์เช่นใดฝ่ายใดยังกล้าแข็ง หรืออ่อนแรงลงไป มากน้อยแค่ไหน หรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีกระแสดังขึ้นเป็นระลอกมาโดยตลอดว่าการที่รัฐบาล คสช.สามารถดึงตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองจากทุกกลุ่มการเมืองที่ล้วนแล้วเคยเป็นคู่ขัดแย้ง ให้พากันตบเท้าเดินเข้ากระทรวงกลาโหมเพื่อให้ขอเสนอ ประเด็นปัญหาไปจนถึงการเสนอทางออก นั้นถือเป็นภาพความสำเร็จที่ คสช.เป็นฝ่ายทำให้ปรากฏขึ้น ในท่ามกลางที่สถานการณ์ทางการเมือง อยู่ในความสงบแต่ยังไม่มีความ"นิ่ง" อย่างแท้จริง
เพราะอย่างน้อยที่สุด คสช. จะสามารถประเมินได้ถึงบรรยากาศและสถานการณ์ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งว่าจะออกมาเช่นใด อะไรคือ "ชนวนเหตุ" ที่จะนำไปสู่ความวุ่นวายรอบใหม่ได้บ้าง และการเดินหน้าเช่นใดของคสช.ที่จะทำให้ฝ่ายการเมืองอยู่ในอาการ"สงบ" มากที่สุด !
ดังนั้นเมื่อแผนการเล่นว่าด้วยการสร้างความปรองดอง ได้ถูกกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใด จึงไม่มีใครสนใจปฏิกิริยา และเสียงครวญจาก ทักษิณ !