แม้ในทางการเมืองนั้น หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง ด้วยเพราะบุคคลที่สร้างความปั่นป่วนให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ถึงกับประกาศตัดพี่ตัดน้องกัน ก็คือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวศ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย
เมื่อพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์สวมหมวกเป็นกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ หรือกมธ.ปปช. พรรคพลังประชารัฐจึงแต่งตั้ง นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. และน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี เข้ามาเป็นกรรมาธิการ ซึ่งมักจะมีความปั่นป่วนโกลาหลเกิดขึ้นในการประชุมเกิดขึ้น ทำให้มีข่าวความขัดแย้งออกมามากกว่าผลงานของคณะกรรมาธิการ
พร้อมกันนี้ พรรคพลังประชารัฐและส.ส. 53 คนได้เข้าชื่อ ให้สภาฯพิจารณาขับพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ออกจากตำแหน่งประธานกมธ.ปปช. ซึ่งบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระสภาฯแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแต่งตั้งส.ส.พรรคพลังประชารัฐทั้ง 2 คนเข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการและผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 แล้ว ก่อนที่ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งในวันที่ 16 มกราคม2563 ภายหลังเกิดปัญหาการตรวจสอบกรณีบุกรุกป่าสงวนของ น.ส.ปารีณา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม ซึ่งน.ส.ปารีณาได้ยื่นเงื่อนไขว่าจะลาออกจากคณะกรรมาธิการหากพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ลาออกด้วย
กระนั้น หากมองในแง่ของงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว มีความเห็นจากองค์กรที่ขับเคลื่อนเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ล่าสุดองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เผยแพร่แถลงการณ์ เรื่อง “เรียกหาธรรมาภิบาลและความจริงใจของทุกภาคส่วนในการต่อสู้ปราบปรามการทุจริตคดโกง กรณีแต่งตั้งกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ(กมธ. ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร” โดยเนื้อหาสรุปว่า “จากการแต่งตั้งบุคคลเป็นกมธ. ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันที่สร้างความเคลือบแคลงสับสนในสังคมถึงความเหมาะสมเกี่ยวกับประวัติ คุณสมบัติและพฤติกรรมของบางคนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เห็นว่า คณะกมธ.ชุดนี้เป็นความหวังของประชาชนที่จะช่วยตรวจสอบแก้ไขคอร์รัปชันของประเทศ จึงควรปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม โดยสำนึกว่าเรื่องของบ้านเมืองไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่ใครนึกจะทำอะไรก็ได้ แต่ต้องยึดหลักธรรมาภิบาล เคารพกติกา มุ่งมั่นผลประโยชน์ส่วนรวมเหนืออื่นใด
นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ยังเรียกหาธรรมาภิบาลของพรรคการเมืองด้วยว่า พรรคการเมืองต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนในการเป็นตัวแทน ดังนั้นทุกพรรคการเมืองจึงควรส่งคนเก่งคนดี มีวุฒิภาวะ คนที่สังคมยอมรับว่ามือสะอาดไม่ด่างพร้อย ที่สำคัญต้องเป็นคนที่เห็นความสำคัญของภารกิจต่อต้านคอร์รัปชันให้มาปฏิบัติหน้าที่สำคัญนี้ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีและสามารถสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับของสังคม
สำหรับรัฐบาลซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้ง กมธ. ป.ป.ช. แต่ในฐานะหน่วยงานสูงสุดของประเทศที่ดูแลประชาชนคนไทยทุกชีวิต นอกเหนือจากการขับเคลื่อนนโยบายแล้ว การเลือกคนเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ถือว่ามีความสำคัญยิ่ง ดังนั้นจึงพึงระลึกว่าการแต่งตั้งผู้ที่มีพฤติกรรมขัดต่อกฎหมายและจริยธรรมที่ขัดแย้งต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นเรื่องที่ต้องให้เกียรติต่อประชาชนเจ้าของประเทศ”
ในสถานการณ์ที่เผชิญแรงเสียดทานจากหลายด้าน แม้เสียงจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจะไม่ได้กระทบต่อรัฐบาลโดยตรง หากเป็นเรื่องของพรรคการเมืองในฝ่ายรัฐบาล กระนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าขบคิดและทบทวน