รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถือเป็นปัญหาไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เกิดมาเป็นปีแล้วและทวีความรุนแรงขึ้นทุกที เป็นภัยเงียบที่จะส่งผลระยะยาว โดยเฉพาะในเด็กเล็กซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตต้องมีปอดที่สะสมไปด้วยฝุ่นที่มองไม่เห็นเหล่านี้ ในฝุ่น PM2.5 ยังมีส่วนผสมของโลหะหนัก ได้แก่ ตะกั่ว สังกะสี แมกนีเซียม ฯลฯ ซึ่งเมื่อสูดสารเหล่านี้เข้าไปจะทำให้ไตทำงานหนัก และโรคที่มาพร้อมกับ PM 2.5 ได้แก่ โรคผิวหนังมะเร็งปอด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดในสมองตีบ ซึ่งมีความเสี่ยงในการเป็นอัมพาต
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝุ่น PM 2.5 นั้น ทำให้เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤติ เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นยังคงน่าเป็นห่วง ในหลายพื้นที่พบปริมาณเกินมาตรฐานที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ต่อ สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 “สวนดุสิตโพล”มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,376 คน ระหว่างวันที่ 21-25 มกราคม 2563 สรุปผลได้ ดังนี้
ประชาชนติดตามข่าวสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มากน้อยเพียงใด? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 55.09 คือ ติดตามเป็นประจำทุกวัน เพราะสถานการณ์รุนแรง เข้าขั้นวิกฤติ กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อยากรู้ค่าฝุ่นละอองในแต่ละวันว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง ฯลฯ
รองลงมา ได้แก่ ติดตามบ้างเป็นบางวัน ร้อยละ 35.03 เพราะ อยากรู้รายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ฯลฯ ไม่ค่อยได้ติดตาม ร้อยละ 8.00 เพราะทำให้รู้สึกเครียดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่อยากรับรู้ข้อมูลมากเกินไป ฯลฯ และไม่ได้ติดตามเลย ร้อยละ 1.88 เพราะ ไม่มีเวลา ต้องทำงาน ไม่อยากรู้ สนใจเรื่องปากท้อง มากกว่า ฯลฯ
ประชาชนรู้สาเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 หรือไม่? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 84.30 คือ รู้ สาเหตุ คือ เกิดจากตัวเราเอง การก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม ควันจากท่อไอเสียของรถที่มีจำนวนมากในท้องถนน การเผาไหม้ต่างๆ เช่น เผาป่า เผาหญ้า เผาขยะ อาหารปิ้ง ย่าง สภาพอากาศแปรปรวน ป่าไม้ลดลง ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ ไม่รู้ ร้อยละ 15.70 เพราะไม่สนใจ เป็นฝุ่น ทั่ว ๆ ไป ยังคงใช้ชีวิตตามปกติ ไม่แน่ใจว่าเกิดจากอะไร ฯลฯ
ประชาชนคิดว่าสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีผลกระทบในเรื่องใดบ้าง? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 94.45 คือ สุขภาพร่างกาย ระบบทางเดินหายใจ สมอง รองลงมา ได้แก่ เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ร้อยละ 22.65 การดำเนินชีวิตประจำวัน การทำกิจกรรมนอกบ้าน ร้อยละ 12.94 สภาพอากาศ ทัศนวิสัยในการมองเห็น ร้อยละ10.17 และสุขภาพจิต อารมณ์ ร้อยละ4.31
ประชาชนมีวิธีการป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM2.5 อย่างไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 96.00 คือ สวมหน้ากากอนามัย รองลงมา ได้แก่ ลดการทำกิจกรรมนอกบ้าน อยู่บ้านมากขึ้น หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่น ร้อยละ 35.84 และดูแลสุขภาพ กินอาหาร กินวิตามิน ติดตั้งเครื่องกรองอากาศ ร้อยละ 11.68
ประชาชนมีวิธีการที่จะไม่ให้เกิดฝุ่น หรือ ไม่เพิ่มฝุ่น ด้วยวิธีใดบ้าง? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 60.86 คือ ใช้รถส่วนตัวน้อยลง ใช้บริการรถสาธารณะแทน ตรวจเช็กเครื่องยนต์ รองลงมา ได้แก่ ไม่เผาไหม้ในที่โล่ง ไม่สูบบุหรี่ ปิ้ง ย่าง ร้อยละ 44.26 และทำความสะอาดบ้าน ปลูกต้นไม้ รักษาสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 24.80
ประชาชนคิดว่ารัฐบาลควรมีวิธีการป้องกันและแก้ไขอย่างไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 33.77 คือ ออกมาตรการต่าง ๆ บังคับใช้อย่างจริงจัง เช่น จำกัดปริมาณรถส่วนบุคคลให้ใช้รถสาธารณะ ห้ามเผาไฟ รองลงมา ได้แก่ ตรวจจับรถทุกประเภทที่มีควันดำ กำหนดเวลาวิ่งของรถบรรทุก ร้อยละ 31.36 ฉีดน้ำ พ่นละอองน้ำ ทำฝนหลวง ร้อยละ 26.97 แจกหน้ากากอนามัยให้กับประชาชน มีระบบแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นแต่ละวัน ร้อยละ 24.78 และควบคุมการปล่อยควันพิษของโรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้างต่างๆ ร้อยละ 16.45
ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลจะแก้ไขสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ได้มากน้อยเพียงใด? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 52.90 คือ ไม่มั่นใจเลย เพราะ ไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน รัฐบาลแก้ปัญหาล่าช้า กระทบต่อสุขภาพของประชาชน ไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ ไม่ค่อยมั่นใจ ร้อยละ 40.70 เพราะ ประชาชนต้องดูแลตัวเอง สถานการณ์ฝุ่นยังมีทุกพื้นที่ แก้ไขได้ยาก มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่น ฯลฯ ค่อนข้างมั่นใจ ร้อยละ 4.80 เพราะ รัฐบาลติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายช่วยกันอย่างเต็มที่ ฯลฯ และมั่นใจมาก ร้อยละ 1.60 เพราะ มีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับปัญหา ปีที่ผ่านมาสามารถแก้ไขได้ ฯลฯ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งแม้ว่าประชาชนอาจไม่มั่นใจในการแก้ไขรัฐบาลมากเท่าที่ควร แต่อย่างน้อยการที่ประชาชนรู้วิธีป้องกันตัว หรือแม้แต่รู้วิธีการที่จะไม่ทำให้เกิดฝุ่นหรือไม่เพิ่มปริมาณฝุ่นนั้น ก็น่าจะทำให้เห็นถึง “ทางออกฉุกเฉิน”ของการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ประชาชนทำได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอรัฐบาล เพราะหากรอการแก้ไขจากรัฐบาล (โดยเฉพาะรัฐบาลที่เต็มไปด้วยปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า) ก็อาจจะต้อง “รอเก้อ” ก็เป็นได้…