ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศไทยนั้น ถือเป็นช่วงหนึ่งที่มีการแพร่ระบาดของข่าวลือ และข่าวลวงต่างๆ ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในทางที่ผิด สร้างความเข้าใจที่สับสน กระทั่งสร้างความเกลียดชัง เป็นภัยคุกคามประเทศไทย
โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังโพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กระบุว่า “กระทรวงสาธารณสุขขอยืนยันว่า ยังควบคุมสถานการณ์โรคไวรัสโคโรน่าจากอู่ฮั่นได้เป็นอย่างดี ที่ควบคุมไม่ได้คือการปล่อยเฟคนิวส์ ทำให้ผู้คนตื่นตระหนก”
ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขตั้งวอร์รูมกลางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องที่เกี่ยวข้องของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และจะมีการแถลงข่าวให้ข้อมูลวันละ 1 ครั้ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำเสนอข่าวต่อสาธารณชนในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เพจกระทรวงยุติธรรมให้ความรู้ด้านกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างข่าวลวง ข่าวลือ โดยมีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับ 1 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ส่งต่อก็ไม่เว้นมีอัตราโทษเท่ากัน
เมื่อวันที่ 14 ม.ค. เพจ "กระทรวงยุติธรรม Ministry Of Justice, Thailand" ได้ออกมาโพสต์ให้ความรู้เกี่ยว เฟคนิวส์ (Fake News) หรือการสร้างข่าวปลอม มีความผิดมีโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับส่วนผู้ส่งต่อข้อมูลเท็จนั้น โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ ถือว่ามีความผิดเท่ากับผู้กระทำผิดข้างต้น และมีอัตราโทษเช่นเดียวกัน
โดยมีเนื้อหาระบุว่า "First Draft News ได้แบ่งข่าวปลอม หรือ Fake News ออกเป็น 7 ประเภท คือ
1. Satire/Parody ข่าวเสียดสีหรือล้อเลียน
2. False Connection ข่าวที่เชื่อมโยงมั่ว ๆ
3. Misleading Content ข่าวที่ทำให้เข้าใจผิด
4. False Context ข่าวที่อยู่ผิดที่ผิดทาง ผิดบริบท
5. Imposter Content อ้างแหล่งที่มามั่ว
6. Manipulated Content ตัดต่อ ดัดแปลง เพื่อการลวงผู้รับสาร
7. Fabricated Content ข่าวปลอม 100%
ผู้ที่ผลิตข่าวปลอม บิดเบือน และนำเผยแพร่บนโซเชียล มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ส่งต่อข้อมูลเท็จนั้นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ ถือว่ามีความผิดเท่ากับผู้กระทำผิดข้างต้น และมีอัตราโทษเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ หากข้อมูลนั้นทำให้บุคคล องค์กร หน่วยงาน เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ยังอาจจะได้รับโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กระนั้น วิธีการรับมือกับข่าวปลอมสำหรับคนทั่วไปนั้น คือตั้งสติเมื่อได้รับข่าวสารให้ตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ก่อนเชื่อและส่งต่อข้อมูลนั้นๆ ขณะที่ภาครัฐเอง นอกจากการให้ข้อมูลที่รวดเร็วแล้ว ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเด็ดขาด